Translate

ชวนคนราชบุรีดูดาวหาง 50,000 ปี

ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งในรอบใช้เวลาประมาณ 50,000 ปี ค้นพบในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2565 โดยเครือข่ายกล้องตรวจท้องฟ้ามุมกว้าง Zwicky Transient Facility


เข้าใกล้โลกมากที่สุด สามารถมองเห็นด้วยตาปล่าว
ช่วงประมาณวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) แจ้งว่าจะเป็นช่วงที่ดาวหางดวงนี้เข้าใกล้โลกมากที่สุด จะสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนกระทั่งรุ่งสางก่อนวันถัดไป คาดว่า จะมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นอีกเล็กน้อย และเริ่มมองเห็นด้วยตาปล่าว

คนราชบุรีดูได้ที่ไหน
ชาวราชบุรีที่สนใจสามารถดูดาวหางได้ในพื้นที่ที่ท้องฟ้าค่อนข้างมืด เช่น อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา และ อ.ปากท่อ (บางส่วน) และพื้นที่นั้นควรมองเห็นทิศเหนือและดาวเหนือได้ชัดเจน เพราะดาวหางจะอยู่ใกล้ดาวเหนือเยื้องไปทางขวา บริเวณกลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) (ดูภาพด้านล่างประกอบ) โดยหลังดวงอาทิตย์ตกดินก็สามารถเริ่มสังเกตได้เลย

ที่มาของภาพ ปรับปรุงจาก (มติชนออนไลน์. 2566)

เทคนิคการมองหาตำแหน่งดาวหาง
ก่อนดูให้หลับตาประมาณ 1 นาที เพื่อปรับสายตา หลังจากลืมตา ให้มองไปทางด้านขวาของดาวเหนือ พยายามสังเกตวัตถุบนท้องฟ้าที่มีลักษณะปรากฏเป็นฝ้าจาง ๆ หรือ คล้ายดาวดวงหนึ่งแต่ไม่ได้คมชัด เช่นดาวดวงอื่น หากใครมีกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องสองตา ลองส่องดูจะช่วยยืนยันว่าเป็นดาวหางหรือไม่ และหากจะลองถ่ายภาพดาวหางดวงนี้ ให้ตั้งขากล้องและการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ ภาพที่ได้จะมีหางและสีเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวหางดวงนี้ได้

ลองซ้อมดูก่อน
ผมได้จำลองภาพตำแหน่งเจ้าดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) จากแอปฯ แผนที่ดาว Star Walk 2 ในคืนวันนี้ (31 ม.ค.2566) ดู จะพบว่าหลังดวงอาทิตย์ตกดินเริ่มมืดในเวลาประมาณ 19:00 น. ก็เริ่มดูได้เลย (ดูภาพด้านล่างประกอบ) ตำแหน่งดาวหางจะอยู่เยื้องขวาทาง 2-3 นาฬิกาจากดาวเหนือ และค่อย ๆ หมุนไปทางซ้าย จนกระทั่งเวลา 23:18 น. เจ้าดาวหางจะอยู่บนดาวเหนือพอดี (12 นาฬิกา) มุมเงยประมาณ 30°

หลังดวงอาทิตย์ตกก็สามารถสังเกตตำแหน่งดาวหางได้ทันที

31 ม.ค.2566 เวลา 23:18 น.ตำแหน่งดาวหางจะอยู่บนดาวเหนือพอดี
หากใครจะถ่ายภาพ ตั้งกล้องรอไว้ได้เลยครับ

ลองซ้อมดูก่อนนะครับ คืนวันที่ 31 ม.ค.2566 นี้ ดาวหางอาจจะยังสว่างน้อยอยู่ สังเกตได้ยากหน่อย หากไม่พบจริง ๆ ยังมีโอกาสแก้ตัวในวันที่ 1-4 ก.พ.2566 ดาวหางจะมีความสว่างมากขึ้น อาจจะโชคดีที่มีโอกาสได้เห็นในรอบ 50,000 ปี เลยทีเดียว

***************************
จัดทำโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี



ที่มาข้อมูลและภาพ
  • ฐานเศรษฐกิจ. (2566). มาแล้ว ดาวหางแซดทีเอฟ ในรอบ 50,000 ปี เริ่มมองเห็นด้วยตาเปล่า. [Online]. Available : https://www.thansettakij.com/news/general-news/554540. [2566 มกราคม 31].
  • มติชนออนไลน์. (2566). ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) เริ่มมองเห็นด้วยตาเปล่าเหนือท้องฟ้าประเทศไทย. [Online]. Available : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3795541. [2566 มกราคม 31].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก