Translate

"พระจันทร์เสี้ยว เคียงข้างดาวศุกร์" 22 ก.พ.2566 นี้ ตาปล่าวก็มองเห็น

ใครที่อยากถ่ายภาพปรากฏการณ์ "พระจันทร์เสี้ยวเคียงข้างดาวศุกร์" แถมดาวพฤหสบดี เตรียมวางแผนกันได้เลยนะครับ เพราะมีเวลาถ่ายเพียงไม่มีชั่วโมงหลังดวงอาทิตย์ตกดิน โทรศัพท์มือถือของคุณก็ถ่ายได้ครับ


พระจันทร์เสี้ยว เคียงข้างดาวศุกร์
ในวันพุธที่ 22 ก.พ.2566  ดาวศุกร์จะอยู่ใกล้ดวงจันทร์มากที่สุด ห่างประมาณ 1.7° แถมด้านบนดวงจันทร์มีดาวพฤหัสบดีลอยอยู่ให้เห็นด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชม สามารถมองเห็นได้ด้วยตาปล่าว แต่ถ้าใครถ่ายภาพเป็น ถ่ายเก็บไว้ก็ดี จะได้เก็บความทรงจำนี้ผ่านภาพถ่ายของตัวเอง 

ปรากฏการณ์นี้ จะเกิดขึ้นใกล้ขอบฟ้าทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ตกดิน ก็จะเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เสี้ยว ขึ้น 3 ค่ำที่มุมเงยประมาณ 26° ดาวศุกร์จะอยู่ประมาณ ทิศ 4 นาฬิกาของดวงจันทร์ ห่างประมาณ 1 กำมือ เมื่อเริ่มเข้าสู่แสงสนธยา ก็จะปรากฎชัดขึ้น ขณะเดียวกันดวงจันทร์ก็จะเริ่มตกตามดวงอาทิตย์ไปเรื่อย ๆ เช่นกัน

วางแผนถ่ายภาพให้ดี มีเวลาไม่มาก
ช่วงเวลาที่สำคัญในวันที่ 22 ก.พ.2566 ดวงจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ ซึ่งโผล่พ้นขอบฟ้ามาตั้งแต่เวลา 08:12 น. แล้ว เป็นดวงจันทร์ค้างฟ้า 
  • เวลา 18:25 น.ดวงอาทิตย์ตก เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาทางการ (Civil Twilight) (ดวงจันทร์มุมเงย 26°)
  • เวลา 18:49 น.เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาเดินเรือ (Nautical Twilight) (ดวงจันทร์มุมเงย 20°)
  • เวลา 19:14 น.เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาดาราศาสตร์ (Astronomical Twilight) (ดวงจันทร์มุมเงย 14°)
  • เวลา 19:39 น.เริ่มมืด (ดวงจันทร์มุมเงย 9°)
  • เวลา 20:31 น.ดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้า
มีเวลาถ่ายภาพเพียง 50 นาที
จะสังเกตุเห็นว่า ปรากฎการณ์นี้มีเวลาให้เราถ่ายภาพได้ไม่นานนัก ตั้งแต่ ประมาณว่าเริ่มเข้าสู่แสงสนธยาเดินเรือ เวลา 18:49 น. ไปจนถึง 19:39 น.  เพราะดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้ามากแล้ว (ประมาณ 50 นาที) หากมีสิ่งปลูกสร้าง อาคารบ้านเรือน ภูเขา เนินดิน หรือสิ่งกีดขวางต่าง ๆ มาบังเส้นขอบฟ้าด้วยแล้ว หมดสิทธิ์เลยครับ ถ้าดวงจันทร์ตกทะเลอาจยังพอถ่ายได้

เย็นวันที่ 22 ก.พ.2566 จะคล้ายภาพนี้
ถ่ายในช่วงเวลาแสงสนธยา
ที่มาของภาพ  (Rick Stankiewicz. 2550)

อย่าลืมชมกันนะครับ วันที่ 22 ก.พ.2566 พอดวงอาทิตย์เริ่มตกดินก็เริ่มตั้งกล้องถ่ายกันได้เลย

*******************
เขียนโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
14 ก.พ.2566



ที่มาข้อมูลและภาพ
  • Rick Stankiewicz. (2550). Crescent Moon, Venus and Twilight Sky. [Online]. Available : https://epod.usra.edu/blog/2007/05/crescent-moon-venus-and-twilight-sky.html. [2566 กุมภาพันธ์ 14].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก