Translate

ปฏิทินถ่ายภาพทางช้างเผือก พ.ศ.2566 และสถานที่ล่าช้างยอดนิยม

เป็นปกติครับทุก ๆ ปี จะมีปฏิทินสำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือกในประเทศไทย ออกมาให้ดูกันเพื่อเป็นไกด์ให้บรรดานักล่าช้าง ทั้งมือใหม่ มือเก่า ทั้งนักล่าช้างประจำถิ่น และนักล่าช้างระดับชาติ ได้ใช้วางแผนเดินทางออกไปล่ากัน และในปีนี้ ผมได้รวบรวมภาพและสถานที่ล่าช้างยอดนิยมจากปี 2565 มาให้ชมด้วย เพื่อเป็นแนวทางการล่าช้างใน ปี 2566 ต่อไป 

เจ้าของภาพ : Sunti Phuangphila 
จากเฟสบุ๊ค Star Hunters Club : ชมรมพรานดารา

ปฏิทินการล่าช้างปี 2566
ปฏิทินการล่าช้างปี 2566 นี้ ผมขอแชร์มาจากเฟสบุ๊คเพจของ Pixelmate  ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับการเรียนถ่ายภาพและทริปถ่ายภาพ  ได้โพสต์ตารางเวลาสำหรับถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกปี พ.ศ.2566 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน พ.ศ.2566 มีรายละเอียดดีมากครับ จึงขออนุญาตนำมาแชร์ไว้ในบล็อกนี้ เผื่อไว้ให้ "นักล่าช้าง" ทั้งหลายใช้เป็นข้อมูลในวางแผนต่อไป มีรายละเอียดดังนี้

คำแนะนำ วิธีการดูตารางเวลาสำหรับถ่ายภาพทางช้างเผือก
  • ตัวอย่างวันที่ : หากเขียนไว้ว่า วันที่ 1-2 หมายถึง ช่วงค่ำของวันที่ 1 ต่อไปจนถึงช่วงเช้ามืดของวันที่ 2
  • ทิศ SE หมายถึง ทิศตะวันออกเฉียงใต้
  • ทิศ S หมายถึง ทิศใต้
  • ทิศ SW หมายถึง ทิศตะวันตกเฉียงใต้
  • เวลาสีเขียว หมายถึง เวลาเมื่อใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) สูงจากเส้นขอบฟ้า 10° ทิศ SE และ 5° ทิศ SW ภาคกลางของประเทศไทย
  • กำหนดให้ช่วงฟ้ามืดเพียงพอที่จะถ่ายภาพทางช้างเผือก คือ เริ่มตั้งแต่ช่วงแสงสนธยาเดินเรือ (Nautical ) เป็นต้นไป
เดือนกุมภาพันธ์ 2566
  • ไม่มีวันหยุดราชการ 
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 18-19 (เริ่ม 03:37 น.), 25-26 (เริ่ม 03:09 น.)
  • วันที่ 24-26 มีกิจกรรม "อาบป่า ห่มฟ้า คว้าดาว ปีที่ 7” ณ  พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ (ถือเป็นการเปิดฤดูล่าทางช้างเผือกประจำปี ในประเทศไทย)

เดือน มีนาคม 2566
  • หยุดราชการ วันจันทร์ที่ 6 วันมาฆบูชา
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 18-19 (เริ่ม 01:47 น.) และ 25-26 (เริ่ม 01:19 น.)
  • วันที่ 21 วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ กลางวัน=กลางคืน

เดือนเมษายน 2566
  • เดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะ ที่เรียกว่า "วันไร้เงา" (The Shadowless Day) โดยเริ่มจากทางภาคใต้ในช่วงต้นเดือน ไล่ไปถึงกรุงเทพฯ ในช่วงปลายเดือน
  • เกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตกพิณ (Lyrids : LYR)  ประมาณ 23 (18 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันหยุดราชการ 6 วันจักรี , 13-14-15 วันสงกรานต์
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 1-2 (เริ่ม 03:50 น.),15-16 (เริ่ม 23:57 น.),22-23 (เริ่ม 23:29 น.) และ 29-30 (เริ่ม 02:25 น.)

เดือนพฤษภาคม 2566
  • กลางเดือนจะเริ่มเข้าฤดูฝน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • เดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะ ที่เรียกว่า "วันไร้เงา" (The Shadowless Day) ในภาคเหนือ
  • วันที่ 6 เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว และ ฝนดาวตกอีตาคนแบกหม้อน้ำ (Eta Aquariids : ETA) (50 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันหยุดราชการ 1 วันแรงงาน, 4 วันฉัตรมงคล
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 13-14 (เริ่ม 22:06 น.),20-21 (เริ่ม 21:39 น.) และ 27-28 (เริ่ม 00:56 น.)

เดือนมิถุนายน 2566
  • อยู่ในฤดูฝน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • วันหยุดราชการ 3 วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบรมราชินี, 5 วันวิสาขบูชา
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 10-11 (เริ่ม 20:17 น.),17-18 (เริ่ม 19:49 น.) และ 24-25 (เริ่ม 23:29 น.)
  • วันที่ 21 ครีษมายัน (Summer Solstice) เริ่มต้นฤดูร้อน กลางวันยาวที่สุด

เดือนกรกฎาคม 2566
  • อยู่ในฤดูฝน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • เดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะ ที่เรียกว่า "วันไร้เงา" (The Shadowless Day) โดยเริ่มจากทางภาคเหนือประมาณปลายเดือน
  • วันที่ 30 เกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ (Southern Delta-Aquariids : SDA) (25 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันหยุดราชการ 28 วันเฉลัมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 10 
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 8-9 (เริ่ม 19:46 น.),15-16 (เริ่ม 19:46 น.) และ 22-23 (เริ่ม 22:02 น.)

เดือนสิงหาคม 2566
  • อยู่ในฤดูฝน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • เดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะ ที่เรียกว่า "วันไร้เงา" (The Shadowless Day) โดยเริ่มจากทางภาคเหนือ ไล่มาถึงกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือน
  • วันที่ 13 ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (100 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันหยุดราชการ วันอาสาฬบูชา, 2 วันเข้าพรรษา, 12 วันแม่แห่งชาติ, 14 หยุดชดเชยวันแม่แห่งชาติ 
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 5-6 (เริ่ม 19:38 น.),12-13 (เริ่ม 19:34 น.) และ 19-20 (เริ่ม 20:36 น.)

เดือนกันยายน 2566
  • อยู่ในฤดูฝน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • เดือนนี้จะมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากเหนือศีรษะ ที่เรียกว่า "วันไร้เงา" (The Shadowless Day) ในภาคใต้ในช่วงต้นเดือน
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 9-10 (เริ่ม 19:20 น.),16-17 (เริ่ม 19:15 น.) 
  • วันที่ 23 ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) เริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง กลางวัน=กลางคืน

เดือนตุลาคม 2566
  • อยู่ในฤดูฝนจนกระทั่งถึงกลางเดือน อาจมีเมฆฝนบังทางช้างเผือก และท้องฟ้าอาจไม่เปิด
  • วันที่ 22 เกิดปรากฏการณ์ ฝนดาวตกนายพราน (Orionids : ORI) (20 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันหยุดราชการ 13 วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 9, 23 วันปิยมหาราช 
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 7-8 (เริ่ม 19:00 น.),14-15 (เริ่ม 18:50 น.) 

เดือนพฤศจิกายน 2566
  • ไม่มีวันหยุดราชการ 
  • วันที่ 5 ฝนดาวตกทอริดส์ใต้ (10 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันที่ 12 ฝนดาวตกทอริดส์เหนือ (5 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันที่ 18 ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (15 ดวงต่อชั่วโมง)
  • วันเสาร์-อาทิตย์ที่เหมาะสม คือ 4-5 (เริ่ม 18:40 น.),11-12 (เริ่ม 18:35 น.) 

สถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกยอดนิยมในประเทศไทย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี ได้รวบรวมสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกยอดนิยมในประเทศไทยปี พ.ศ.2565 ไว้เรียบร้อยแล้ว มีสถานที่ถ่ายภาพทั้งหมดที่สำรวจจำนวน 445 แห่งใน 62 จังหวัด ส่วนสถานที่ล่าช้างใด ได้รับความนิยมในปีที่แล้ว ลองเข้าไปดูข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนได้เลยครับ ใน "ผลการศึกษาภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย  พ.ศ.2565" ลองอ่านดูนะครับ

อย่าลืมนะครับ นักล่าช้าง "วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง" อยากชมภาพช้างสวย ๆ ในบ้านเรา ใครที่ชอบนอนดึก ตื่นสาย ใครที่ชอบนอนหัวค่ำ แล้วตื่นเช้ามืด หรือใครที่ไม่ชอบนอนและอยู่ได้ทั้งคืน  ก็ลองวางแผนกันเอาเองนะครับ  ขอให้โชคดีทุกท่าน

อ่านเพิ่มเติม
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
1 ม.ค.2566





ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก