Translate

ชวนคนไทยเป็น "นักวิทยาศาสตร์พลเมือง" สำรวจโลกยามราตรี

Globe at Night ขอเชิญทุกคนร่วมเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง วัดค่าความสว่างของท้องฟ้ายามค่ำคืนที่บ้านของคุณหรือสถานที่ที่คุณไป ช่วยโลกต่อสู้กับมลพิษทางแสง แล้วส่งผลการสำรวจออนไลน์แบบง่าย ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ของคุณ 


เนื้อหา
  • Globe at Night คืออะไร
  • วิธีการวัดค่าความสว่างของท้องฟ้า
  • การวัดและรายงานผ่านคอมพิวเตอร์
  • การวัดและรายงานผ่านสมาร์ทโฟน
  • แคมเปญในปี พ.ศ.2566 วัดค่าวันไหน ที่กลุ่มดาวอะไรบ้าง
  • นักวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) คือใคร

Globe at Night คืออะไร
โครงการ Globe at Night เป็นโครงการรณรงค์ด้านวิทยาศาสตร์พลเมืองระหว่างประเทศ (international citizen-science) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางแสง โดยเชิญทุกคนร่วมเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมือง ข่วยวัดค่าความสว่างของท้องฟ้ายามค่ำคืนและส่งข้อสังเกต ผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน
 
มลพิษทางแสงไม่เพียงคุกคาม “สิทธิ์ในแสงดาว (right to starlight)” ของเราเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการใช้พลังงาน สัตว์ป่า และสุขภาพด้วย มีการวัดค่ามากกว่า 200,000 ครั้งจากผู้คนใน 180 ประเทศในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ทำให้ Globe at Night เป็นแคมเปญการรับรู้มลพิษทางแสงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน

Globe at Night เป็นโครงการของ NOIRLab ของ NSF ซึ่งเป็นศูนย์ระดับชาติชั้นนำของสหรัฐฯ สำหรับดาราศาสตร์เชิงแสงและอินฟราเรดภาคพื้นดินในเวลากลางคืน ซึ่งบริหารงานโดยสมาคมมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัยดาราศาสตร์ (The Association of Universities for Research in Astronomy : AURA) ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกับมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (The National Science Foundation)

วิธีการวัดค่าความสว่างของท้องฟ้า
วิธีการวัดค่าความสว่างของท้องฟ้า ก็คือ การวัดความสว่างของดวงดาวบนท้องฟ้าโดยการสังเกตด้วยตาเปล่าของเราเอง ถ้าท้องฟ้ามืดก็จะเห็นดาวชัดและมีจำนวนหลายดวง ถ้าท้องฟ้าสว่างก็จะเห็นดาวสว่างเพียงไม่กี่ดวงหรือไม่เห็นเลย ทางโครงการ Globe at Night ได้ออกแบบวิธีวัดและการรายงาน ไว้ 2 วิธี คือ ในคอมพิวเตอร์และในสมาร์ทโฟน

การวัดและรายงานผ่านคอมพิวเตอร์
ขั้นต้นขอให้คุณเข้าไปในเว็บไซต์ Globe at Night (https://globeatnight.org/) อ่านรายละเอียดต่าง ๆ ให้เข้าใจ หลังจากนั้น ดำเนินการง่าย ๆ  ดังนี้
  1. ในช่วงวันที่กำหนดในแคมเปญ  ให้คุณออกไปข้างนอกหลังจากดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้วหนึ่งชั่วโมง (ประมาณ 20.00-22.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น) ไม่ควรมีดวงจันทร์ขึ้น ให้หลับตาเป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้ดวงตาคุณคุ้นเคยกับความมืด ก่อนการสังเกตการณ์
  2. ใช้แอปแผนที่ดาวที่คุณมีบนสมาร์ทโฟน ค้นหากลุ่มดาวที่กำหนดในวันนั้น ๆ แล้วสังเกต
  3. นำผลการสังเกตของคุณเข้าไปใรายงานใน "รายงาน Globe at night" (https://globeatnight.org/th/webapp/) เป็นภาษาไทยครับ กรอกข้อมูลลงไป เสร็จแล้วกด  “ส่งข้อมูล”
การวัดและรายงานผ่านสมาร์ทโฟน
ก่อนอื่นต้องติดตั้งแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า "Loss of the Night"  เป็นรูปนกฮูก ฟรีครับ  มีทั้งสำหรับ iPhone และ Androids แอปฯ นี้จะเปลี่ยนดวงตาของคุณให้เป็นเครื่องวัดแสง ช่วยให้คุณกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมืองและสามารถรายงานว่าท้องฟ้ายามค่ำคืนที่คุณอาศัยอยู่นั้น สว่างหรือมืดแค่ไหน

App Loss of the Night

เมื่อติดตั้งลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ลองอ่านข้อแนะนำต่าง ๆ ให้เข้าใจ สำหรับในการวัดค่าความสว่างท้องฟ้า ให้ดำเนินการดังนี้ 
  1. ในช่วงวันที่กำหนดในแคมเปญ  ให้คุณออกไปข้างนอกหลังจากดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้วหนึ่งชั่วโมง (ประมาณ 20.00-22.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น) ไม่ควรมีดวงจันทร์ขึ้น ให้หลับตาเป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้ดวงตาคุณคุ้นเคยกับความมืด ก่อนการสังเกตการณ์
  2. เปิดแอปฯ Loss of the Night เลือกใช้โหมดกลางคืน แล้วเลือก Start observing stars จากนั้น แอปฯ ก็จะค้นหาตำแหน่งของคุณด้วย GPS จากดาวเทียม หลังจากพบตำแหน่งเรียบร้อย หน้าจอก็จะขึ้นวงกลมสีแดงมีลูกศรชี้นำ พร้อมกับพื้นหลังเป็นกลุ่มดาวต่าง ๆ  ให้คุณแหงนโทรศัพท์ขึ้นท้องฟ้าเพื่อหาตำแหน่งดาวตามที่ลูกศรชี้นำไป เมื่อพบกลุ่มดาวที่ต้องการ ลูกศรก็จะหายไปเหลือแต่วงกลม จากนั้นคุณก็สังเกตดาวนั้น ส่งข้อสังเกตตามที่แอปฯ ได้ให้ตัวเลือกไว้  วิธีนี้ง่ายมาก ๆ ครับ อ่านแล้วอาจเข้าใจยาก ลองทำดูเลยนะครับ
วิธีหาดาวของแอป Loss of the Night

แคมเปญในปี พ.ศ.2566 วัดค่าวันไหน ที่กลุ่มดาวอะไรบ้าง
ในช่วงแคมเปญ ปี พ.ศ.2566 สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในท้องฟ้าในซีกโลกเหนือ Globe at Night กำหนดวันที่วัดค่าและกลุ่มดาว ไว้ดังนี้
  • 13-22 ม.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion) และกลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major)
  • 12-21 ก.พ.2566 วัดที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion) และกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini)
  • 13-22 มี.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวนายพราน (Orion) และกลุ่มดาวคนคู่ Gemini
  • 12-21 เม.ย.2566 วัดที่กลุ่มดาวสิงโต (Leo)
  • 11-20 พ.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวสิงโต (Leo) และกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes)
  • 9-18 มิ.ย.2566 วัดที่กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) และกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules)
  • 8-17 ก.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) และกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules)
  • 7-16 ส.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) และกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules)
  • 5-14 ก.ย.2566 วัดที่กลุ่มดาวหงส์ (Cygnus)
  • 4-13 ต.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) และกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus)
  • 3-12 พ.ย.2566 วัดที่กลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus) และ กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส (Perseus)
  • 3-12 ธ.ค.2566 วัดที่กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส (Perseus)
*แคมเปญนี้ หากใช้แอป Loss of the Night ในสมาร์ทโฟน แอปฯ จะพาไปหากลุ่มดาวโดยอัติโนมัติ


นักวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) คือใคร 
นักวิทยาศาสตร์พลเมือง คือ ประชาชนที่สมัครใจช่วยทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์  เช่น การออกแบบ การทดลอง รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ผล และแก้ไขปัญหา  ทุกคนที่สนใจสามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์พลเมืองได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม และไม่สำคัญว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ หรือมีภูมิหลังอย่างไร สิ่งที่คุณต้องมี คือ เวลา ความอยากรู้อยากเห็น และความรู้สึกพิศวงจากสิ่งที่คุณได้ทำ สำหรับการสำรวจโลกยามราตรี ครั้งนี้ อย่างน้อยคุณก็จะได้
  1. มีส่วนร่วมกับผู้คนทั่วทุกมุมโลกเพื่อสังเกตท้องฟ้ายามราตรี
  2. ให้คำแนะนำและบอกต่อแก่คนรู้จักหรือครอบครัวที่รักในวิทยาศาสตร์ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียน
  3. ช่วยรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับท้องฟ้ายามค่ำคืนในประเทศของคุณ เพื่อให้นักวิชาการใช้ศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากมลพิษทางแสงต่อไป


ใครพอมีเวลา มาช่วยโลกกันนะครับ ช่วยสำรวจผลกระทบจากมลพิษทางแสง เพื่อให้นักวิชาการทั้งหลายนำไปเป็นข้อมูลในการวิจัยช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป

*****************
รวบรวและเรียบเรียงโดย
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
16 ก.พ.2566



ที่มาข้อมูล
  • The Association of Universities for Research in Astronomy. (2549). Globe at Night. [Online]. Available : https://globeatnight.org/. [2566 กุมภาพันธ์ 16].
  • Citizen Science. (2564). What is Citizen Science?. [Online]. Available : https://www.nps.gov/subjects/citizenscience/citizen-science.htm. [2566 กุมภาพันธ์ 16].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก