Translate

26 ก.พ.2565 ชวนเด็ก ๆ ดูดาวลูกไก่

ดาวลูกไก่ เป็นดาวที่เด็ก ๆ ทุกคนน่าจะคุ้นชื่อ แต่ก็เชื่อว่าเด็ก ๆ หลายคน คงยังไม่เคยเห็นดาวลูกไก่จริง ๆ เสียทีว่ามันอยู่ตรงไหนของท้องฟ้า  เพราะมันไม่ค่อยสว่างมากนัก ยิ่งท้องฟ้าสว่างแบบในเมืองนี้ ค่อนข้างหมดสิทธิ์เลยครับ


ดาวลูกไก่อยู่เคียงดวงจันทร์
ตามภาพจำลองด้านบน ในหัวค่ำวันที่อาทิตย์ที่ 26 ก.พ.2566 จะเกิดปรากฎการณ์กลุ่มดาวลูกไก่ (Pleiades) อยู่ใกล้ดวงจันทร์ โดยอยู่ทางทิศ 2-3 นาฬิกาจากดวงจันทร์ ระยะห่างเพียง 2.7°  ประกอบกับดวงจันทร์วันนั้นขึ้น 7 ค่ำ (สว่าง 44%) ซึ่งสว่างไม่มากเกินไปนัก น่าจะมองเห็นกลุ่มดาวลูกไก่  แถมด้านบนยังจะได้เห็นดาวสีส้มอีก 2 ดวง คือ ดาวตาวัว (Alderbaran) ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว (Taurus) และสว่างเป็นอันดับที่ 14 บนท้องฟ้า และอีกดวงคือ ดาวอังคาร 

ดังนั้น ในวันนี้ จะหาตำแหน่งดาวลูกไก่ได้ชัดเจน คือ ข้างดวงจันทร์ ลองชวนเด็ก ๆ ออกไปดูกันนะครับ (หากมองไม่เห็น ให้ลองนั่งหลับตาสัก 20 นาทีเพื่อปรับสายตา)

ภาพนี้ อธิบายดาวลูกไก่เคียงดวงจันทร์เมื่อ 9 มี.ค.2565

เล่าตำนานดาวลูกไก่ให้เด็กฟัง 
พอเด็ก ๆ เห็นดาวลูกไก่ แล้ว ผู้ใหญ่อย่าลืมเล่าตำนานดาวลูกไก่ ให้เด็ก ๆ ฟังด้วยนะครับ ซึ่งมีหลากหลายมาก อย่างเช่น ตำนานในเทพปกรณัมกรีก จะเรียกชื่อว่ากลุ่มดาวไพลยาดีส (Pleiades) ตั้งชื่อตามพี่น้องหญิงสาว 7 คน (Seven sisters) ส่วนดาวลูกไก่ของไทย ก็มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ดาวกฤติกา เป็นเรื่องของลูกไก่ทั้งเจ็ดตัว กระโดดเข้ากองไฟตายตามแม่ไก่ ส่วนชาวไวกิ้ง เป็นไก่เหมือนกัน คือ เป็นไก่ทั้งเจ็ดตัวของเฟรยา เทพีแห่งความรัก เวทมนตร์ และนางพญากลุ่มนางฟ้านักรบวัลคีรีส์ 

เรื่องราวของกลุ่มดาวลูกไก่นี้ ยังมีเรื่องราวผูกพันกับกลุ่มดาวนายพรานและอีกหลายกลุ่มดาว ลองสืบค้นกันดูนะครับ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ภาพ ดาวลูกไก่เคียงดวงจันทร์

อย่าลืมนะครับ 26 ก.พ.2566 ช่วงหัวค่ำ ชวนเด็ก ๆ ไปที่สนามหน้าบ้าน ดูดาวลูกไก่กัน เพื่อสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ให้แก่พวกเขา ดังคำกล่าวของอาจารย์ดาราศาสตร์ ท่านหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า 

"เราสามารถใช้ดาราศาสตร์ พัฒนาคน พัฒนาประเทศได้" 

***************************
รวมรวมและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
21 ก.พ.2566


 



ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก