Translate

ทำไม? ฉันจึงมองไม่เห็นทางช้างเผือก

Milky Way หรือ ทางช้างเผือก จะมีลักษณะเหมือนฝ้า หรือเมฆจางๆ สีขาวขุ่นพาดผ่านเป็นทางสว่างข้ามขอบฟ้า ซึ่งมักจะเห็นได้ในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืด ปราศจากแสงจันทร์ และไร้แสงไฟรบกวน ยิ่งหากท้องฟ้าแจ่มใส ไร้เมฆ ไร้ฝุ่นละออง ยิ่งเห็นได้ชัด ดังนั้น คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในเขตเมือง จึงมองไม่เห็นทางช้างเผือก เพราะในเมืองมีมลภาวะทางแสงรบกวนมาก


เนื้อหา
  • ทำความรู้จักกับทางช้างเผือก
  • วิธีค้นหาทางช้างเผือกแบบง่าย ๆ
  • เริ่มต้นแกะรอยจากกลุ่มดาว
  • หาหัวใจแมงป่องให้เจอ
  • สามเหลี่ยมฤดูร้อน
  • ใจกลางทางช้างเผือก
  • สรุปท้ายเรื่อง
ทำความรู้จักกับทางช้างเผือก
Milky way Galaxy (ดาราจักรทางช้างเผือก) เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่งที่เต็มไปด้วยดาวฤกษ์นับแสน ๆ ล้านดวง มีเศษฝุ่น และกลุ่มแก๊สกระจัดกระจายรวมตัวกันอยู่ หมุนวนรอบใจกลางที่เป็นหลุมดำ (Supermassive Black Hole) เป็นรูปกังหัน ระบบสุริยะของเราเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งในดาราจักร แห่งนี้


ดาราจักรแต่ละแห่งเปรียบคล้ายกับยากันยุง 1 ขด ดาราจักรทางช้างเผือกนับเป็นยากันยุง 1 ขดในดาราจักรหลายล้านขดของเอกภพ  ระบบสุริยะของเราตั้งอยู่ในระนาบเดียวกับตัวยากันยุง  ดังนั้นทางช้างเผือกที่เรามองเห็นจากโลกก็จะเป็นแค่ความหนาของยากันยุงนั่นเอง

วิธีค้นหาทางช้างเผือกแบบง่าย ๆ 
เอาแบบง่าย ๆ ที่สุด คือ จากแอปพลิเคชันแผนที่ดาวที่ติดตั้งได้ในโทรศัพท์มือถือ ที่มีอยู่หลายแอปฯ ให้เลือก เช่น Star Walk, Stellarium, SkyPortal ฯลฯ หลังจากนั้นก็เริ่มต้นแกะรอยจากกลุ่มดาวสว่างที่อยู่ใกล้กับแนวของทางช้างเผือก ควรใช้ปฏิทินการถ่ายภาพทางช้างเผือกในแต่ละปี (ที่มีผู้คำนวณไว้ให้แล้ว) ประกอบด้วย จะได้รู้ว่าทางช้างเผือกจะขึ้นวันไหน เดือนไหน เริ่มขึ้นเวลาเท่าไหร่บ้าง หากจะให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น ควรไปสังเกตในสถานที่ที่ท้องฟ้ามืด ไร้แสงรบกวน 

เริ่มต้นแกะรอยจากกลุ่มดาว 
ดวงดาวที่เราเห็นบนท้องฟ้ายามค่ำคืนทั้งหมดนั้น คือ ดวงดาวเฉพาะที่อยู่รอบ ๆ ระบบสุริยะของเราเท่านั้น  ในแถบของทางช้างเผือก จะมีกลุ่มดาวสว่างที่ควรรู้ไว้ อาทิ กลุ่มดาวแคสสิโอเปีย (ค้างคาว) เพอร์เซอุส สารถี คนคู่ กางเขนใต้ แมงป่อง คนยิงธนู นกอินทรี และกลุ่มดาวหงส์ (ดูภาพด้านล่างประกอบ) หากเราจะมองหาทางช้างเผือกซึ่งมันมองหายากมาก จึงต้องเริ่มต้นด้วยการแกะรอยจากกลุ่มดาว เหล่านี้เสียก่อน ซึ่งสามารถหาได้จากแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือทั่วไป ตามที่กล่าวไปแล้ว

กลุ่มดาวตามแถบทางช้างเผือก

หาหัวใจแมงป่องให้เจอ
เริ่มต้นด้วยการค้นหา กลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดาวจักรราศี (Zodiac) ในนามของ "กลุ่มดาวราศีพิจิก"  กลุ่มดาวแมงป่องนี้ จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีดาวสว่างดวงหนึ่งที่ชื่อว่า แอนทาเรส (Antares) หรือที่คนไทยรู้จักในนามของ ดาวปาริชาต เป็นดาวยักษ์ใหญ่สีแดงมีความสว่างเห็นได้ชัด ง่ายต่อการสังเกต เราต้องค้นหาดาวดวงนี้ให้พบ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของแมงป่อง 


เมื่อพบหัวใจแมงป่องแล้ว เริ่มมองดูอย่างละเอียด จะมีดาวเรียงกันทางด้านบน  3 ดวงเด่นชัดเป็นส่วนก้ามของแมงป่อง และมีดาวเรียงต่อลงมาเป็นส่วนหางที่คดงอ ส่วนหางนี้เองที่ทำหน้าที่เกี่ยวแถบทางช้างเผือก แล้วพาขึ้นมาให้เราชม (ดูภาพด้านบนประกอบ)

กลุ่มดาวแมงป่อง 

จากภาพด้านบน พบกลุ่มดาวแมงป่องแล้ว ซึ่งพออนุมานได้ว่า แนวแถบทางช้างเผือกอยู่ตรงไหน เพราะหางมันจะเกี่ยวอยู่ แต่แสงไฟในภาพนี้รบกวนมาก จึงมองแถบทางช้างเผือกไม่ชัดเจน

สามเหลี่ยมฤดูร้อน 
ต่อมาลองสังเกตดาวสว่างสามดวง ซึ่งจะโผล่พ้นขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในซีกโลกเหนือช่วงฤดูร้อน (หลังวันครีษมายัน 21 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา) ซึ่งหากเราลากเส้นสมมติระหว่างดาวทั้งสามดวง จะเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก ซึ่งเราเรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า "สามเหลี่ยมฤดูร้อน" (Summer Triangle) ดาวสามดวงนั้น ได้แก่
  1. ดาวเวกา (Vega) อยู่ใน กลุ่มดาวพิณ (Lyra) 
  2. ดาวเดเนบ (Deneb) อยุ่ใน กลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) 
  3. ดาวอัลแทร์ (Altair) อยู่ใน กลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila)
สามเหลี่ยมฤดูร้อน
ที่มาของภาพ ปรับปรุงจาก (มติพล ตั้งมติธรรม.2559)

สามเหลี่ยมฤดูร้อนจัดเป็น "ดาวเรียงเด่น" (asterism) สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แม้ในเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางแสง แถบทางช้างเผือกจะพาดตรงกลางผ่านระหว่างดาวเวกา และดาวอัลแทร์ ทาบทับไปยังดาวเดเนบ (ดูรูปภาพด้านบนประกอบ) ดังนั้น ถ้าเราหาสามเหลี่ยมฤดูร้อนเจอ เราก็จะเจอทางช้างเผือก ด้วยเช่นกัน

เรื่องการปรากฏของสามเหลี่ยมฤดูร้อนและทางช้างเผือกนี้  ก่อให้เกิดประเพณีวันที่ 7 เดือน 7 ของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ เทศกาลทานาบาตะ (Tanabata / たなばた) ในญี่ปุ่น, เทศกาลชีซี่ (Qixi) ในจีน, เทศกาล ชิลซ็อก (Chilseok / 칠석) ในเกาหลี และเทศกาล เทิ้ตถิก (Thất Tịch)ในเวียดนาม เป็นต้น



ใจกลางทางช้างเผือก
ใจกลางทางช้างเผือก (Galactic Center) อยู่ระหว่าง กลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) และกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) ดังนั้น หากสามารถระบุตำแหน่งของกลุ่มดาวทั้งสองได้แล้ว ก็จะทราบว่าใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก อยู่ตรงไหน 

ที่มาของภาพ (John Dvorak.2561)

ในใจกลางทางช้างเผือกจะมีแถบมืดที่เรียกว่า Great Rift ซึ่งแสงจากดาวฤกษ์บริเวณนั้นถูกฝุ่นระหว่างดาวฤกษ์บดบัง จึงเป็นบริเวณที่ลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งในเอกภพ บริเวณใจกลางทางช้างเผือกมีวัตถุที่เรียกว่า Sagittarius A* ซึ่งมันก็คือ หลุมดำมวลยิ่งยวด ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราว ๆ 4 พันล้านเท่า 

Sagittarius A* : The Milky Way's Supermassive Black Hole
ที่มาของภาพ (Matt Williams. 2566)

สรุปท้ายเรื่อง
หากเราได้ยลโฉมทางช้างเผือกด้วยตาตัวเองแล้ว จะทำให้รู้สึกว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรานี้มันช่างเล็กกระจิดริดเสียเหลือเกิน หากเทียบกับความยิ่งใหญ่ของดาราจักร (Galaxy) จำนวนหลายแสนล้านดาราจักรในเอกภพ (COSMOS) ที่กว้างใหญ่ไพศาลจนไม่รู้ว่ามันมีขอบเขตแค่ไหน  มนุษย์เรียนรู้เรื่องดวงดาวมากว่า 5,000 ปีแล้ว แต่ยังมีเรื่องราวที่ลึกลับดำมืดอีกมากมายที่ยังไม่รู้และอธิบายไม่ได้ ปัจจุบัน มนุษย์เราเพิ่งเดินทางไปได้แค่ดวงจันทร์เท่านั้นเอง เราเชื่อหรือว่าในเอกภพนี้ มีเพียงเราที่เป็นสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเพียงเผ่าพันธ์เดียวเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม
เราเป็นเผ่าพันธ์ที่ทรงภูมิปัญญาแล้วจริงหรือ
หรือเราเป็นเพียงแค่มดตัวเล็ก ๆ ในเอกภพที่กว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้

*********************************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
พลตรี ดร.สุชาต  จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี



ที่มาข้อมูล
  • มติพล ตั้งมติธรรม. (2559). สามเหลี่ยมฤดูร้อน. [Online]. Available : https://www.facebook.com/photo/?fbid=469218763288335&set=pcb.469227559954122. [2566 มิถุนายน 25].
  • อาจวรงค์ ป๋องแป๋ง จันทมาศ. (2560). การสังเกตการณ์ทางช้างเผือก.  [Online]. Available :https://www.facebook.com/ardwarong/photos/a.409698355818015/1334430696678105/?type=3. [2566 มิถุนายน 25].
  • John Dvorak. (2561). Secrets Of The Strange Stars That Circle Our Supermassive Black Hole. [Online]. Available : https://www.discovermagazine.com/the-sciences/secrets-of-the-strange-stars-that-circle-our-supermassive-black-hole. [2566  มิถุนายน 25].
  • พิสิฏฐ นิธิยานันท์. (2565). "เทศกาลราตรีแห่งเลขเจ็ด" เทศกาลตามประเพณีร่วมของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม. [Online]. Available : https://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/1955-seven-festival. [2566  มิถุนายน 25].
  • Matt Williams. (2566). A Very Young Star is Forming Near the Milky Way's Supermassive Black Hole. [Online]. Available : https://www.universetoday.com/160376/a-very-young-star-is-forming-near-the-milky-ways-supermassive-black-hole/. [2566  มิถุนายน 26].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก