Translate

สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากล (INTERNATIONAL DARK SKY WEEK ) 22-30 เม.ย.2565 เราจะร่วมทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง?

สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากลปี 2565 (International Dark Sky Week 2022) จัดขึ้นโดยการรณรงค์ของสมาคมท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association - IDA) โดยปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 22-30 เม.ย.2565 ภายใต้แคมเปญ "Discover the Night"


การรณรงค์ครั้งนี้ มีสาเหตุมาจาก มลพิษทางแสง (Light Pollution) ที่กำลังก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้คนและสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ ทวีมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อาทิ การทำลายวิถีชีวิตตามธรรมชาติของสัตว์ การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ การที่ต้องสูญเสียเงินและสิ้นเปลืองพลังงานเป็นจำนวนมาก แสงประดิษฐ์ที่เกินความจำเป็นมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการปิดมุมมองของมนุษย์เกี่ยวกับดาราศาสตร์

ปัจจุบัน IDA ระบุว่า มลพิษทางแสงเพิ่มขึ้นในอัตรา 2 เท่าของการเติบโตของประชากร และ ร้อยละ 83  ของประชากรโลกอาศัยอยู่ภายใต้ท้องฟ้าที่มีมลพิษทางแสง

แสงประดิษฐ์ที่ควรออกแบบให้ถูกต้อง

แสงประดิษฐ์ ทำให้สัตว์สับสนเรื่องเวลา และบ้างก็หลงทาง  

แสงประดิษฐ์จากเมืองที่เรืองขึ้นสู่ท้องฟ้า ปิดมุมมองทางดาราศาสตร์ของมนุษย์

ภาพจำลองมลพิษทางแสงและลักษณะของแสงที่ "ดี"
ที่มาของภาพ (IDA.2564)

ภาพด้านบน จำลองให้เห็นว่า พื้นที่ที่เราต้องการแสงสว่างก็คือบริเวณที่พื้นเท่านั้น (Area to be lit) แต่แสงประดิษฐ์จากโคมไฟถนนที่ออกแบบ "ไม่ดี"  จะทำให้เกิดพื้นที่ที่ได้รับแสงจ้ามากเกินไป (Glare Zone) ทำลายสุขภาพตา แสงบางส่วนไปรบกวนอาคารบ้านเรือนและการนอน (Light trespass) แสงบางส่วนจะสะท้อนจากพื้นดินขึ้นท้องฟ้า (Upward reflected light) และพุ่งไปยังท้องฟ้าโดยตรง (Direct upward light)

    ตัวอย่าง โคมไฟถนนที่ออกแบบไม่ดี เกิดแสงเรืองขึ้นบนท้องฟ้า และทำลายสุขภาพตา
แสงบางส่วนไปรบกวนอาคารบ้านเรือนและการนอน 

ความตระหนักด้านมลพิษทางแสงในประเทศไทย
ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเห็นว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานใด ออกมาให้ความสำคัญในเรื่องมลพิษทางแสงนี้  อย่างเป็นจริงเป็นจังเท่าใดนัก แม้แต่ กรมควบคุมมลพิษ หรือ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็ยังไม่เห็นมีแผนและนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะอาจยังไม่เห็นว่า "แสงประดิษฐ์สามารถก่อให้เกิดมลพิษ และทำลายสิ่งแวดล้อมได้"  ซึ่งนั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด

ตัวอย่าง โคมไฟถนนประเภทสิงสาราสัตว์ ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางแสง
ที่บรรดา อบจ.,อบต.ในประเทศไทยนิยมติดตั้งกัน

แต่ก็ยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว ยังมีหน่วยงานที่กำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่ คือ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้เสนอแนวคิดและได้เริ่มดำเนินโครงการ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Place)" มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 แล้ว แต่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ได้ใน https://darksky.narit.or.th/darkskyreserve/

กิจกรรมที่ IDA ขอให้ช่วยกันทำในสัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากล
IDA ขอความร่วมมือจากคนทั่วโลกให้ร่วมรณรงค์ทำกิจกรรมจำนวน 6 กิจกรรม ได้แก่
  1. สมัครเป็นนักวิทยาศาสตร์ชุมชน (community scientist) เข้าร่วม Globe at Night เป็นแคมเปญวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษทางแสง  โดยร่วมกันวัดและส่งการสังเกตการณ์ความสว่างของท้องฟ้ายามค่ำคืน ผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  2. จัดการแสงไฟในบ้านของคุณ (Inventory your home lighting) ให้เป็นมิตรกับชุมชน สิ่งแวดล้อม และท้องฟ้ายามค่ำคืน ตามหลักการ 5 ข้อ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  3. เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเดินชมเมืองยามค่ำคืน (Host a night walk) เช่น พื้นที่ในเมือง หรือพื้นที่ที่มีมลพิษทางแสง แล้วอธิบายให้คนที่เข้าร่วมเหล่านั้นเห็นว่า แสงประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้น ก่อให้เกิดมลพิษทางแสงและทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร (ดาวโหลดคู่มือ)
  4. เข้าร่วมเครือข่ายผู้สนับสนุนท้องฟ้ามืดของ IDA (Join the Advocate Network)    สมัครเข้ารับการอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับมลพิษทางแสง สนับสนุนการออกกฏหมาย และทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและอาสาสมัครในท้องถิ่น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  5. เขื่อมต่อกับองค์กรอื่น ๆ (Partner with other orgs) เชิญชวนองค์กรที่เป็นพันธมิตรและบอกพวกเขาเกี่ยวกับความสำคัญของการลดมลพิษทางแสง อาจขอจัดกิจกรรมร่วมกับพวกเขาในบางโอกาส เพื่อแนะนำให้ผู้คนใหม่ ๆ หันมาเห็นคุณค่าของท้องฟ้าที่มืด
  6. เข้าร่วมเกมล่ามลพิษทางแสง (Join in the scavenger hunt) โดยออกล่าหาข้อมูลตามภาพด้านล่างให้ได้มากที่สุด แล้วส่งข้อมูลไปรับรางวัลสติ๊กเกอร์จาก IDA  (คลิกส่งข้อมูล)

ข้อมูลที่ต้องออกตามล่าหาใน  scavenger hunt (ตามภาพด้านบน)
  1. ข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่มีชีวิตเวลากลางคืน
  2. ตัวอย่างของการจัดแสงที่ดี
  3. กลุ่มคนท้องถิ่นที่ร่วมรณรงค์ท้องฟ้ามืด
  4. ระบบแสงสว่างภายนอกรอบ ๆ บ้านของคุณ
  5. นโยบายลดมลพิษทางแสงในท้องถิ่นของคุณ
  6. สถานที่ท้องฟ้ามืดที่ใกล้บ้านของคุณที่สุด
  7. ลิงค์การเข้าร่วมเครือข่ายผู้สนับสนุนท้องฟ้ามืดของ IDA 
  8. ดาวเคราะห์ที่คุณเห็นในยามค่ำคืน
  9. รายชื่อเพื่อนที่คุณเล่าเรื่องมลพิษทางแสงให้ฟัง
  10. เสื้อผ้าเกี่ยวกับธีมท้องฟ้ามืด
  11. ผู้นำท้องถิ่นของคุณหันมาตัดสินใจให้ความสำคัญกับการที่มีท้องฟ้ามืด
  12. ตัวอย่างของการจัดแสงที่ไม่ดี
  13. ตัวอย่างโคมไฟของร้านค้าในพื้นที่ของคุณที่เป็นมิตรกับท้องฟ้ามืด
  14. ระดับมลพิษทางแสงในชุมชนของคุณ
  15. การอ่านหนังสือเกี่ยวกับมลพิษทางแสง
  16. การติดตาม IDA (@idadarksky) ทางโซเซียลมีเดีย
เราจะร่วมทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง?
ในฐานะที่เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูดาว และก็ชอบให้ท้องฟ้ามืดด้วย ก็น่าจะลองเข้าร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ดู เพื่อสนับสนุนสัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากล ถึงแม้พวกเราก็จะเป็นคนกลุ่มน้อย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก อย่างน้อยก็ถือว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้โลกและสิ่งที่เราชอบบ้าง  ลองช่วยกันรณรงค์และบอกต่อ ๆ กันไปนะครับ

"เวลาผีเสื้อหลาย ๆ ตัวขยับปีกพร้อมกัน มันอาจสะเทือนถึงดวงดาวก็ได้"

อ่านเพิ่มเติม
*********************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
3 เม.ย.2565

ที่มาข้อมูลและภาพ 

  • IDA. (2564). Light Pollution. [Online]. Available : https://www.darksky.org/light-pollution/. [2565 เมษายน 3].
  • IDA. (2564). International Dark Sky Week 2022.[Online]. Available : https://idsw.darksky.org/. [2565 เมษายน 3].  

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก