Translate

แนวทางการจัดกิจกรรม "เดินชมเมืองยามค่ำ (Dark city walks)" สนับสนุนสัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากล

กิจกรรม "เดินชมเมืองยามค่ำ (Dark city walks)" เป็นกิจกรรม 1 ใน 6 กิจกรรมที่สมาคมท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association - IDA) เขิญชวนให้ทำเพื่อสนับสนุน "สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากลปี 2565 (International Dark Sky Week 2022)" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 เม.ย.2565 ภายใต้แคมเปญ "Discover the Night" โดย IDA ได้จัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมในฐานะการเป็นเจ้าภาพ (Host a night walk) ไว้แล้ว แต่ผมได้นำมาปรับปรุงและดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์ในบ้านเรา ซึ่งพอจะสรุปแนวทางได้ ดังนี้


แนวทางการจัดกิจกรรม Dark city walks
(ปรับปรุงจาก Landon Bannister. 2565)

ชื่อกิจกรรม "เดินชม (..ชื่อเมือง..) ยามค่ำ"
คำขวัญ Discover the Night
ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม ประมาณ 1 ชั่วโมง (หลังมืด)
การแต่งกายผู้เข้าร่วมเดิน รัดกุม ทะมัดทะแมง ใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับการเดิน กระติกน้ำดื่มประจำตัว  สวมเสื้อกั๊ก หรือติดแถบสะท้อนแสงที่สามารถมองเห็นได้จากระยะไกลในตอนกลางคืน
อุปกรณ์ที่ผู้นำกิจกรรมควรมี เสาธงไกด์นำขบวน (หากมีสัญญาณไฟที่หัวเสาก็จะดี) , ป้ายกิจกรรม, ไฟฉาย ,ไฟเลเซอร์สำหรับชี้เป้าสีแดง ,อุปกรณ์ประกอบการนำชมที่จำเป็น และหากกลุ่มมีขนาดใหญ่ควรมีโทรโข่งสำหรับบรรยาย
ขนาดของกลุ่ม ไม่ควรเกิน 25 คน (อาจเริ่มต้นจากคนในครอบครัว ญาติ เพื่อนสนิท และกลุ่มคนที่สนใจ)
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
  • การเดินให้ปฏิบัติตามกฏหมายของท้องถิ่นทุกประการ เช่น เดินบนทางเท้า ข้ามถนนที่ทางม้าลาย หรือบนสะพานลอย เป็นต้น
  • ต้องกำหนดวันทำกิจกรรม จุดเริ่มต้น-เวลา และ จุดสิ้นสุด-เวลา ให้ชัดเจน
  • เส้นทางการเดิน อาจวนเป็นวงกลมกลับมาที่เดิม หรือ One way ก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
  • ควรมีจุดแวะพัก (ที่จัดเตรียมไว้ก่อน) เพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับมลพิษทางแสงจำนวน 8-12 จุด
  • ควรเริ่มต้นเดินหลังมืด (หลังดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว)
  • ควรมีผู้ช่วยในการจัดกิจกรรม 1-2 คน (แล้วแต่ขนาดของกลุ่ม)
  • ผู้ทำกิจกรรมควรสำรวจเส้นทางเดินและจุดพักก่อนล่วงหน้า เพื่อนำมาจัดทำแผนปฏิบัติจริง
  • หากในเมืองมีผู้คนหรือการจราจรหนาแน่น ควรแจ้งเจ้าหน้าที่จราจรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวก 
  • จัดกิจกรรมตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
ก่อนเดิน ควรนัดรวมพลที่จุดเริ่มต้นเพื่อชี้แจงการปฏิบัติ ก่อนเริ่มกิจกรรมประมาณ 30 นาที 
  • ให้ทุกคนแนะนำตัวซึ่งกันและกัน
  • อธิบายวัตถุประสงค์ของการเดิน และผลกระทบจากมลพิษทางแสงเบิ้องต้น
  • แนะนำการปฏิบัติ และกฏต่าง ๆ รวมถึงจุดพักในระหว่างการเดินชมเมือง
การเรียนรู้สำคัญที่ควรแนะนำในระหว่างเดินและที่จุดพัก 
ผู้จัดกิจกรรมควรไปสำรวจสถานที่ต่าง ๆ แล้วนำมาวางแผนล่วงหน้า เพื่อจัดเตรียมข้อมูลในการบรรยายประกอบระหว่างการเดินทาง หรือเมื่อถึงจุดพัก ควรหาพื้นที่ที่มีการจัดการแสงไฟที่สามารถอธิบายประเด็นต่าง ๆ  เกี่ยวกับมลพิษทางแสง ดังที่จะกล่าวต่อไปเหล่านี้ได้

*********************************
แสงจ้าเป็นศัตรูของแสงที่ดี (Glare is the enemy of good lighting)
แสงจ้ามากเกินไปที่ส่องเข้าตาเรา จะทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งของหรือวัตถุที่อยู่ด้านหลังของแหล่งกำเนิดแสงนั้น แต่หากมีการจัดแสงไฟที่พอดี ตำแหน่งเหมาะสม และไม่จ้าเกินไป จะทำให้เรามองเห็นสิ่งของหรือวัตถุโดยรอบได้ครบถ้วน และมีความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า

ตัวอย่าง แสงจ้าทำให้มองไม่เห็นคนที่ยืนอยู่ที่ประตู
หากเอามือบังแสง จะทำให้มองเห็นคนที่ยืนอยู่ที่ประตูได้ชัดเจน

*********************************
การสูญเสียแสงที่พุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า (Wasted uplight)
มองหาสถานที่ที่ออกแบบโคมไฟถนน "ไม่ดี"  ซึ่งพอเปิดแล้วจะมีแสงพุ่งขึ้นไปในท้องฟ้า ซึ่งจริง ๆ แล้วแสงควรส่องลงมาที่พื้นถนนที่เราใช้ประโยชน์เท่านั้น แสงที่พุ่งขึ้นท้องฟ้าจะมีเฉพาะตามสนามบินที่ส่องเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เครื่องบินลงจอดเท่านั้น  หากมีโคมไฟลักษณะนี้ เท่ากับว่าเราสูญเสียแสงไปบนท้องฟ้าแบบไร้ประโยชน์ แสงที่สูญเสียเหล่านี้ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow)​ แสงเหล่านี้จะกระเจิงผ่านตัวกลางขนาดเล็กในอากาศ เช่น เมฆ หมอกควัน และอนุภาคในชั้นบรรยากาศ ปรากฏเป็นแสงเรืองทั่วท้องฟ้าและสังเกตเห็นได้แม้จะอยู่ห่างไกลออกไป 

ตัวอย่าง Wasted uplight

ตัวอย่าง Sky Glow จากเมือง

ตัวอย่าง Sky Glow จากเมือง

*********************************
แสงที่สว่างมากเกินไปเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ (To much light is a bad thing)
ในพื้นที่ที่มีจุดที่สว่างมากหลาย ๆ จุด แลดูสับสนจะทำให้มองเห็นไม่ชัด และหากพื้นที่ใดมีจุดที่สว่างมากตัดกับจุดที่มืดอย่างชัดเจน จะทำให้บริเวณโดยรอบดูมืด อาจทำให้เกิดปัญหาในการมองเห็น และปัญหาด้านความปลอดภัยได้

ตัวอย่าง To much light is a bad thing

ตัวอย่าง To much light is a bad thing

*********************************
ความสว่างของแสงแค่ไหนที่เราต้องการ (How much light do we need?)
เรื่องนี้อาจไม่มีใครตอบได้ บางคนก็ชอบสว่างมาก แต่บางคนก็ชอบสว่างน้อย แค่พอมองเห็นก็พอ ความสว่างของแสงที่แต่ละคนต้องการไม่มีค่าที่ตายตัว หลอดไฟจึงมีให้เลือกหลายขนาด เช่น 100 วัตต์ 60 วัตต์ 40 วัตต์ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่า แสงสว่างมากแค่ไหนที่คุณต้องการในสถานที่นั้น ๆ 

ตัวอย่าง How much light do we need?

ตัวอย่าง How much light do we need?

*********************************
การใช้สีที่เหมาะสม (Appropriate use of colour)
สีของไฟที่ไม่เหมาะสม ทำให้เรื่องราวหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่นั้น ๆ เปลี่ยนไป อย่างนี้ถือว่าสีของไฟเป็นมลพิษทางแสงรูปแบบหนึ่งที่ทำลายบรรยากาศและภูมิทัศน์ สีของไฟจะเพิ่มความยุ่งเหยิงของภาพ และความสับสนให้กับทิวทัศน์ยามค่ำคืนของพื้นที่นั้น ๆ 

ตัวอย่าง Appropriate use of colour

ตัวอย่าง Appropriate use of colour

*********************************
แหล่งกำเนิดแสงอบอุ่น กับ แหล่งกำเนิดแสงเย็น (Warm light source vs cool light sources)
มนุษย์นั่งล้อมกองไฟที่เป็นแสงอบอุ่นมาเป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปี ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ส่วนใหญ่จึงมีความรู้สึกปลอดภัย และสบายใจ หากอยู่ภายใต้แสงอบอุ่นมากกว่าอยู่ภายใต้แสงเย็น  นอกจากนั้นแสงอบอุ่นยังก่อให้เกิดมลพิษทางแสงที่มีต่อท้องฟ้าและสัตว์ป่า น้อยกว่าแสงเย็นอีกด้วย

มนุษย์คุ้นชินกับกองไฟ

ตัวอย่าง Warm light vs cool light 

*********************************
แสงควรอยู่ในที่ที่ต้องการแสง (Light where light is needed)
การออกแบบที่ดีต้องให้แสงส่องไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้แสง การออกแบบที่ไม่ดีจะทำให้แสงเล็ดลอดหรือฟุ้งกระเจิงไปรบกวนผู้คน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่เว้นแม่แต่ต้นไม้ แสง..หากไปอยู่ในที่ที่ไม่ต้องการแสง แสงนั้น..จะไม่มีประโยชน์และทำให้สิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น หากเดินชมเมืองก็จะพบกับสถานที่ที่ไม่ต้องการแสง แต่กลับมีแสง ให้เห็นอยู่จำนวนมากมาย

ตัวอย่าง Light where light is needed

*********************************
จำเป็นต้องมีไฟแสงสว่างไหม (Does it need to be liit?)
มีคำถามว่า ที่ใดบ้างที่เราต้องการแสงสว่าง และต้องการไปเพื่ออะไร แล้วที่นั่นจำเป็นต้องมีไฟแสงสว่างหรือไหม เวลาเราเดินในเมืองยามค่ำคืน เราก็จะพบเห็นสถานที่ที่ไม่จำเป็นต้องมีแสงไฟ แต่กลับเปิดไฟไว้สว่างจ้า เช่น ลานจอดรถที่ไม่มีคนจอด ถนนที่ไม่มีคนสัญจรไปมา สวนสาธารณะที่ปิดแล้ว อาคารที่ไม่มีคนทำงาน บางสถานที่ที่มีสัตว์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ แทนที่จะได้พักผ่อนหลับนอน แต่กลับทำไม่ได้เพราะเปิดไฟสว่างจ้าเหมือนเวลากลางวัน  แม้แต่ต้นไม้เองก็ยังไม่ต้องการแสงในเวลากลางคืนอีกด้วย แสงเหล่านี้เสียค่าใช้จ่าย และสิ้นเปลืองพลังงานไปโดยปล่าวประโยชน์ แถมก่อให้มลพิษทางแสงอีกด้วย

ตัวอย่าง Does it need to be liit?

ตัวอย่าง Does it need to be liit?

*********************************
มลพิษทางแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น ๆ (Light pollution from other source)
ตัวอย่าง เช่น สื่อป้ายโฆษณาดิจิตอล ป้ายโฆษณาเรืองแสง หรือแม้แต่อาคารสำนักงานที่เปิดไฟทิ้งไว้ ทั้งหมดนี้ ล้วนมีส่วนทำให้เกิดปัญหามลพิษทางแสง ต้องถามว่า "ใครได้ประโยชน์" แสงไฟจากสื่อเหล่านี้กำลังยึดครองเมืองของเราเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนเองเพียงเท่านั้น

ตัวอย่าง Light pollution from other source

ตัวอย่าง Light pollution from other source

ตัวอย่าง Light pollution from other source

*********************************
หาพื้นที่ตัวอย่างที่มีการจัดแสงได้เหมาะสม
หากเมืองของคุณมีสถานที่ที่มีการจัดการแสงไฟอย่างเหมาะสม  ก็ควรพากลุ่มทั้งหมดไปชม และอธิบายให้ฟัง แต่ดูเหมือนจะหายากมาก เพราะส่วนใหญ่เมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการจัดการแสงประดิษฐ์ โดยเฉพาะแสงจากโคมไฟถนนมาตั้งแต่ต้น มลพิษทางแสงจึงเกิดขึ้นมากมายตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของเรา

ภาพต่อไปนี้เป็นภาพตัวอย่างของระบบไฟฟ้าส่องสว่างในเมืองแห่งหนึ่ง โดยติดตั้งระบบควบคุมไฟถนนอัจฉริยะของ Philips และ Vodafone แบบไร้สาย ที่พยายามลดมลพิษทางแสงที่ทำลายสุขภาพของมนุษย์และลดปริมาณแสงเรืองที่ส่องขึ้นบนท้องฟ้า รวมทั้งควบคุมเวลาเปิด-ปิดให้ประหยัดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด (ที่มาของภาพ new atlas. 2559)




แนวทางการจัดกิจกรรม "เดินชมเมืองยามค่ำ" ที่กล่าวมาเป็นแค่คำแนะนำเท่านั้น ท่านสามารถนำไปประยุกต์หรือดัดแปลงให้สอดคล้องกับบริบทในเมืองของท่านเองได้เลยครับ ท่านใดที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ อาจจะทำได้ยากหน่อย แต่ก็น่าจะไม่เกินขีดความสามารถ 

หากท่านใด กลัวว่าจะหากลุ่มไม่ได้ ลองเริ่มต้นจากครอบครัว และเพื่อนสนิทก่อน เอาสัก 4-5 คนก็พอ อย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกายเดินเล่นในเมืองยามค่ำคืน แบบชิล ชิล แถมยังได้ความรู้เรื่องมลพิษทางแสงอีกด้วย หากมีกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ สัก 1,000 กลุ่มในประเทศไทย ก็จะมีคนมีความรู้เรื่องมลพิษทางแสงเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4-5000 คน เลยทีเดียว 

อ่านความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางแสงเพิ่มเติม

*********************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
5 เม.ย.2565

ที่มาข้อมูลและภาพ 

  • Landon Bannister. (2565). DARK CITY WALK- How-to Guide.pdf. [Online]. Available : https://darksky.app.box.com/s/thc47g0pjzsifght20k09mt5l0p01eue/file/916824346871. [2565 เมษายน 3].
  • IDA. (2564). International Dark Sky Week 2022.[Online]. Available : https://idsw.darksky.org/. [2565 เมษายน 3]. 
  • new atlas. (2559). Philips and Vodafone partner for wireless city smart lighting.[Online]. Available : https://newatlas.com/philips-vodafone-wireless-connected-street-lighting/42296/. [2565 เมษายน 4].  

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก