Translate

(ค้นหา) สถานที่ดูดาวในราชบุรี ตอนที่ 3 พบความเหมาะสมหลายพื้นที่ เตรียมลงสำรวจจริง

การค้นหาสถานที่ดูดาวและทางช้างเผือกใน จ.ราชบุรี มาถึงตอนที่ 3 แล้วครับ  ท่านใดที่เพิ่งเข้ามาเยี่ยมชมบล็อกนี้ หากอยากทราบความเป็นมาของเรื่องราว โปรดอ่านบทความย้อนหลังเหล่านี้ ก่อนได้นะครับ  แล้วพวกเราจะได้เดินทางช่วยกันค้นหาต่อไป

ยอดเขากระโจม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เจ้าของภาพ เด็กน้อย หัดถ่ายภาพ
ที่มาของภาพ (ราชบุรี บ้านเรา. 2563)

หลังจากที่โพสต์เรื่อง "(ค้นหา) สถานที่ดูดาวในราชบุรี ตอนที่ 1 และ 2 และสถานที่สำหรับตามล่าทางช้างเผือก ใน จ.ราชบุรี" ผ่านโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ไปแล้ว ผนวกกับการสืบค้นในโลกออนไลน์ของทางชมรมฯ จึงได้ค้นพบสถานที่ดูดาวและทางช้างเผือกใน จ.ราชบุรี ที่น่าสนใจจำนวนหลายแห่ง มีร่องรอยของผู้คนที่ได้ทำกิจกรรมเชิงดาราศาสตร์มาแล้ว  สรุปได้ดังนี้

ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี ขอขอบพระคุณหลายท่านที่ได้เสนอสถานที่ดูดาวใน จ.ราชบุรี ในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่จะพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ใน พื้นที่ จ.ราชบุรี ของเราต่อไป

ทางช้างเผือก สำนักสงฆ์พุน้ำร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
เจ้าของภาพ ภูริต นิวาศะบุตร
ที่มาของภาพ (ราชบุรี บ้านเรา. 2562)


ทำมานานแล้วแต่ขาดการส่งเสริม
จากการสืบค้นร่องรอยในโลกออนไลน์ พบว่า หลายสถานที่ใน จ.ราชบุรี ได้เคยมีการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์มาแล้ว ทั้งถ่ายภาพดาวและทางช้างเผือก  แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครได้รับรู้กิจกรรมดังกล่าวมากนัก อาจจะเกิดจากการประชาสัมพันธ์ที่น้อยเกินไป และขาดการส่งเสริมที่ดีจากหน่วยงานราชการใน จ.ราชบุรีที่เกี่ยวข้อง  การท่องเที่ยวแถบ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา มักชอบเน้นแค่ "การชมทะเลหมอก" เพียงเท่านั้น ผิดกับหลายพื้นที่โดยเฉพาะยอดดอยทางภาคเหนือ เขาเน้น "ทั้งการดูดาวและชมทะเลหมอก" ควบคู่กันไป 

ทางช้างเผือก แกรนด์แคนยอน ราชบุรี
เจ้าของภาพ เด็กน้อย หัดถ่ายภาพ
ที่มาของภาพ (ราชบุรี บ้านเรา. 2562)

ทางช้างเผือก จุดชมวิวห้วยคอกหมู อ.สวนผึ้ง
ที่มาของภาพ (nukkpidet. 2564)

องค์ประกอบของสถานที่ดูดาว
สถานที่ดูดาวหรือดูทางช้างเผือกที่พึงประสงค์ ไม่จำเป็นต้องอยู่บนภูเขา ยอดดอย หรือในพื้นที่สูงเสมอไป อาจอยู่ที่ไหนก็ได้ แม้แต่ชายทะเล ก็ยังดูได้ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้ 
  1. ลักษณะของสถานที่ 
    • สถานที่ดูดาว สามารถมองเห็นได้รอบทิศ 360 องศา มองเห็นขอบฟ้าได้ชัดเจน ควรมองเห็นตำแหน่งของดาวเหนือได้ (ที่มุมเงยประมาณ 15 องศา โดยไม่มีภูเขา,เนินดิน หรือสิ่งปลูกสร้างบัง)
    • สถานที่ดูทางช้างเผือก อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนสถานที่ดูดาว แต่ควรมองเห็น ขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ -ทิศใต้-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้ชัดเจน
  2. สภาพความมืดของท้องฟ้า ควรมีมลพิษทางแสงน้อย โดยเฉพาะแสงเรืองจากหมู่บ้าน หรือเมือง อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งมืด ยิ่งชัด
  3. ความสามารถการเข้าถึงสถานที่ นักท่องเที่ยวต้องสามารถเดินทางเข้าถึงสถานที่ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย มีป้ายบอกทางชัดเจน สภาพของถนนควรรองรับยานพาหนะได้หลากหลายรูปแบบ 
  4. การติดต่อสื่อสาร  ควรมีสัญญาณโทรศัพท์ หรือ Wi-fi พื้นฐานเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้อุปกรณ์ประกอบการดูดาวที่จำเป็น
  5. ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว  หากสถานที่ใดไม่ได้อยู่ในความดูแลของทางราชการ เช่น อุทยาน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า เขตอนุรักษ์ หรือพื้นที่การดูแลของตำรวจ ทหาร ควรจัดให้มีการรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม จากยามของที่พักเอง อปพร. หรือชุดรักษาความปลอดภัยของหมู่บ้าน ขณะที่มีการทำกิจกรรม
  6. สภาพสถานที่พักแรม  เช่น ลานกางเต็นท์ ห้องพัก ห้องน้ำ ห้องสุขา   ควรต้องมีความพร้อม เพียงพอ และมีระบบรักษาความสะอาดที่ดี  หากสถานที่นั้นไม่มีที่พักแรมก็ควรอยู่ใกล้ที่พักแรมให้มากที่สุด
  7. องค์ประกอบทางศิลป์สำหรับการถ่ายภาพ เช่น สภาพภูมิประเทศ ต้นไม้ ภูเขา หน้าผา อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง เรือ แม่น้ำ  สะพาน แอ่งน้ำ ทะเลสาบ หรือทะเล เป็นต้น องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้การถ่ายภาพดาว หรือทางช้างเผือกมีความสวยงามและได้อารมณ์มากยิ่งขึ้น
  8. ไกด์ดาวประจำพื้นที่ ในสถานที่นั้น ๆ  ควรมีผู้ที่มีความรู้  สามารถให้คำแนะนำการดูดาวในเบื้องต้น แก่นักท่องเที่ยวมือใหม่ได้ (อ่านรายละเอียดใน ไกด์ดาว)
  9. กิจกรรมยามกลางวัน หากสถานที่นั้น มีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ  อยู่ใกล้ ๆ ยิ่งดี จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ไปเที่ยวพักผ่อนในตอนกลางวัน 
  10. สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ  เช่น ร้านขายอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายของโช์ห่วย  เป็นต้น
โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ของ จ.ราชบุรี
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี ภายใต้การดำเนินการของสถาบันราชบุรีศึกษา จะลงสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ  ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำ "โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ของ จ.ราชบุรี" ซึ่งเป็นโครงการทางวิชาการ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) ของ จ.ราชบุรี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (astronomical tourism) ต่อไป

โดยทางชมรมฯ ขอความกรุณาจากเจ้าของสถานที่ดังกล่าว ได้กรุณาให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ของ จ.ราชบุรี ต่อไป ขอขอบพระคุณล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

ทางช้างเผือก สำนักสงฆ์พุน้ำร้อน ต.บ้านบึง อ.บ้านคา
เจ้าของภาพ ภูริต นิวาศะบุตร
ที่มาของภาพ (ราชบุรี บ้านเรา. 2562)

สำหรับเจ้าของสถานที่ท่านใด เห็นว่าสถานที่ของท่านมีองค์ประกอบเหมาะสมและยินดีที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ อยากให้ชมรมฯ  ลงไปสำรวจ แจ้งความประสงค์เพิ่มเติมมาได้ทาง ID LINE : Kmratchaburi  นะครับ (ไม่มีค่าใช้จ่าย)

*********************
จัดทำโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
7 เม.ย.2565

ที่มาข้อมูลและภาพ 

  • ราชบุรี บ้านเรา. (2564). ทางช้างเผือก@แกรนด์แคนยอน ราชบุรี. [Online]. Available : https://www.facebook.com/RatchaburiBaanrao/photos/a.252058944978084/1713544802162817/. [2565 เมษายน 7].
  • ราชบุรี บ้านเรา. (2563). จุดชมทางช้างเผือก และหมู่ดาว  ที่เขากระโจม อ.สวนผึ้ง  จ.ราชบุรี. [Online]. Available : https://www.facebook.com/RatchaburiBaanrao/photos/pcb.1361495767367724/1361492794034688. [2565 เมษายน 7].
  • ราชบุรี บ้านเรา. (2562). ทางช้างเผือกและมวลหมู่ดาว ที่สำนักสงฆ์พุน้ำร้อน. [Online]. Available : https://www.facebook.com/RatchaburiBaanrao/photos/pcb.1226369640880338/1226369390880363. [2565 เมษายน 7].
  • nukkpidet. (2564). จุดชมวิวห้วยคอกหมู ที่เที่ยวราชบุรี สวนผึ้ง ชมวิวขุนเขา เคล้าอากาศหนาว สุดเขตชายแดน. [Online]. Available : https://travel.trueid.net/detail/XpQRRJbYkbWn. [2565 เมษายน 7].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก