Translate

(ค้นหา) สถานที่ดูดาวในราชบุรี ตอนที่ 2 "เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด"

ต่อจาก (ค้นหา) สถานที่ดูดาวในราชบุรี ตอนที่ 1

ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงการวัดระดับมลภาวะทางแสง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ที่เหมาะสมกับการดูดาวมากที่สุด พบว่าคือ บริเวณ อ.บ้านคา และ อ.สวนผึ้ง ตามแนวสันเขาตะนาวศรีติดชายแดนประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  ต่อมาในวันที่ 7 มี.ค.2565 ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ก็ได้ออกมาประกาศรณรงค์อีกครั้ง ห้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง (Light Pollution)  และช่วยกันอนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้ายามค่ำคืน  โดยเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมืดของท้องฟ้า และเสนอพื้นที่เข้าเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Place) ซึ่งหากผ่านการประเมินจากทางสถาบันฯ แล้วจะได้การรับรองเป็น "แหล่งการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในประเทศไทย"  ต่อไป

International Dark Sky Places
ที่มาของภาพ (IDA.2565)

มลภาวะทางแสงคืออะไร ?
มลภาวะทางแสง คือ แสงสว่างที่ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าเวลากลางคืนซึ่งเป็นผลจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ได้ควบคุมปริมาณและทิศทางให้เหมาะสมกับบริเวณที่จำเป็นต้องใช้ แสงเหล่านี้สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์และส่องสว่างไปบนท้องฟ้าแทนที่จะเจาะจงไปที่วัตถุและพื้นที่ที่ต้องการ ทำให้ท้องฟ้าที่เคยมืดมิดกลับไม่มืดสนิทอย่างที่ควรจะเป็น  ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  1. แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow)​ แสงสว่างบนท้องฟ้าบริเวณชุมชนเมืองเกิดจากการติดตั้งแหล่งกำเนิดแสงอย่างไม่ระมัดระวัง แสงเหล่านี้จะกระเจิงผ่านตัวกลางขนาดเล็กในอากาศ เช่น เมฆ หมอกควัน และอนุภาคในชั้นบรรยากาศ ปรากฏเป็นแสงเรืองทั่วท้องฟ้าและสังเกตเห็นได้แม้จะอยู่ห่างไกลออกไป 
  2. แสงเจิดจ้าบาดตา (Glare) เป็นมลภาวะทางแสงที่เกิดจากทิศทางของแสงไฟที่ส่องสว่างจ้าเข้ามาในดวงตาโดยตรง ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการมองเห็นของมนุษย์ แสงจ้าบาดตาอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บและการควบคุมม่านตาชั่วคราว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการมองเห็นและสังเกตเส้นทางของผู้ที่ต้องสัญจรในเวลากลางคืน แสงจ้าบาดตาที่พบเห็น เช่น ไฟหน้ายานพาหนะที่สว่างจ้าเกิดไป ไฟถนนที่ควบคุมทิศทางแสงไม่เหมาะสม และแสงสว่างนอกอาคารที่ติดตั้งโคมไฟไม่เหมาะสม
  3. แสงรุกล้ำ (Light trespass)​ คือ แสงหรือความสว่างที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณของผู้อื่น เกิดจากลักษณะของหลอดไฟหรือการไม่ควบคุมทิศทางการให้แสงสว่าง ทำให้แสงมีทิศทางที่ส่องไปยังพื้นที่อื่น เป็นมลภาวะทางแสงที่เจ้าของไม่ต้องการ เช่น แสงที่ส่องไปยังห้องนอนของผู้อื่นในเวลากลางคืน ทําให้นอนหลับไม่สนิทซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว
ตัวอย่างมลภาวะทางแสง
ที่มาของภาพ Dark Sky. (2565)

บางแหล่งข้อมูล     จะเพิ่มประเภทของมลภาวะทางแสงอีกประเภทหนึ่ง คือ แสงสับสน (Light Cutter) หมายถึง แสงที่ทำให้เกิดความสับสนในการขับขี่ หรือการลงจอดของเครื่องบิน ซึ่งมักจะพบในเมืองที่ขาดการควบคุมแสง

ตัวอย่างการควบคุมแสงที่ดี
ที่มาของภาพ (Go Stargazing. 2565)

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย (Thailand Dark Sky Place)
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เริ่มดำเนินโครงการ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด" (Dark Sky Place) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดจะต้องมีวิธีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เหมาะสมต่อการใช้งานจริง ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางแสง โดยแบ่งประเภทของเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ออกเป็น 4 ประเภท (ซึ่งยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก) ดังนี้ 

  1. อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงดาราศาสตร์ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันมีอุทยานที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่ 
  2. ชุนชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้การร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน เช่น บริเวณอ่างเก็บน้ำ เขื่อน สวนสาธารณะ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาว เนบิวลา หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ ชุมชนบ้านออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
  3. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจ มีค่าความมืดท้องฟ้าอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว กระจุกดาวเปิด หรือทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันมีสถานที่ส่วนบุคคลที่ได้รับการรับรอง ได้แก่ บ้านไร่อนุสรา, สุนทรการ์เด้น ,สนามแมค(MAC) จ.สระบุรี ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้, บ้านไร่ยายชะพลู, โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่, สนามมวกเหล็กเอทีวี, ไร่องุ่นไวน์ อัลซิดินี่, เดอะเปียโน รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
  4. เขตอนุรักษ์ท้องฟ้าในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Subures) คือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง เช่น สวนสาธารณะ โรงเรียน หอดูดาวส่วนตัว ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม มีค่าความมืดท้องฟ้าต้องอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตเห็นวัตถุท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว ได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้การรับรอง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ ,หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ขอนแก่น, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.นครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ฉะเชิงเทรา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สงขลา
ตัวอย่างมลภาวะทางแสงในเขตเมือง
ที่มาของภาพ (Elizabeth Daigneau. 2557)

Dark Sky Place เป็นเรื่องราวระดับโลก
โครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดนี้ มีดำเนินการในระดับนานาชาติ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531  โดยเรียกเขตเหล่านี้ว่า International Dark Sky Place (IDSP) ปัจจุบันขับเคลื่อนโดย International Dark-Sky Association (IDA) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องมลภาวะทางแสง และเป็นแกนนำสำคัญในการต่อสู้กับมลภาวะทางแสงทั่วโลก ปัจจุบันมีเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ที่ผ่านการรับรองจำนวน 170 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก และเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มต้น 

อุทยานแห่งรัฐ Goblin Valley 1 ใน 111 Dark Sky Place ในสหรัฐอเมริกา
ที่มาของภาพ (Kastalia Medrano and Vanita Salisbury. 2564)

แหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ใน จ.ราชบุรี
จ.ราชบุรี นับว่ามีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี ประจวบเหมาะกับโอกาสที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมารณรงค์เชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ หากท่านผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท หรือผู้นำชุมชนใน จ.ราชบุรี ท่านใดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สนใจใช้โอกาสนี้สมัครเข้าร่วมโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Place) สามารถสมัครได้ตามขั้นตอนในเว็บไซต์
https://darksky.narit.or.th/ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ NARIT โทรศัพท์ 053-121268 ต่อ 306 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล darksky@narit.or.th

หวังว่า ใน จ.ราชบุรี จะมีแหล่งท่องเที่ยงเชิงดาราศาสตร์ที่เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Place) อยู่ในระดับแรก ๆ ของประเทศไทย ในเร็ววันนี้

อ่านต่อ

*******************

รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
8 มี.ค.2565

ที่มาข้อมูลและภาพ

  • IDA. (2565). The International Dark Sky Places. [Online]. Available : https://www.darksky.org/our-work/conservation/idsp/. [2565 มีนาคม 8].
  • Go Stargazing. (2565). Light pollution spoils our enjoyment of the night skies. [Online]. Available : https://gostargazing.co.uk/light-pollution/. [2565 มีนาคม 8].
  • Kastalia Medrano and Vanita Salisbury. (2564). The Best Places to Stargaze in the U.S. Right Now. [Online]. Available : https://www.thrillist.com/travel/nation/best-places-to-stargaze. [2565 มีนาคม 8].
  • วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2564). มลภาวะทางแสง. [Online]. Available : https://th.wikipedia.org/wiki/มลภาวะทางแสง. [2565 มีนาคม 8].
  • Dark Sky. (2565). มลภาวะทางแสง. [Online]. Available : https://darksky.narit.or.th/มลภาวะทางแสง/. [2565 มีนาคม 8].
  • Elizabeth Daigneau. (2557). Blinded by Light Pollution. [Online]. Available : https://www.governing.com/archive/gov-light-pollution-interview.html. [2565 มีนาคม 8].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก