Translate

(ค้นหา) สถานที่ดูดาวในราชบุรี ตอนที่ 4 : ก้าวแรกที่สวนผึ้ง และการตามหารัตติกาลที่หายไป

คืนวันที่ 23-24 เม.ย.2565 ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี ได้มีในโอกาสร่วมสังเกตการณ์การฝึกถ่ายภาพดาราศาสตร์และทางช้างเผือกภาคปฏิบัติของ อ.วิรติ กีรติกานต์ชัย จากชมรมคนรักในดวงดาว (Starry Night Lover Club) ณ อ่างเก็บน้ำบ้านตะเคียนทอง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และยังได้พบ อ.สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ และท่านพฤฒิ  เกิดชูชื่น ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และคณะ หารือเรื่องการสร้างเขตท้องฟ้ามืดใน จ.ราชบุรี อีกด้วย

เนื้อหา

  • เริ่มก้าวแรกที่สวนผึ้ง สัญญาณที่ดี
  • การสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ จ.ราชบุรี
  • รัตติกาลที่หายไป (Losing The Dark)
  • สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากลปี 2565
  • เปิดใจให้กว้าง

อ่างเก็บน้ำบ้านตะเคียนทอง
ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

เริ่มก้าวแรกที่สวนผึ้ง สัญญาณที่ดี
คณะของ อ.วิรติ กีรติกานต์ชัย เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ถึงอ่างเก็บน้ำบ้านตะเคียนทอง ค่อนข้างดึก เลยเวลาตามกำหนดหลายชั่วโมง ผมรู้จัก อ.วิรติฯ (อาจารย์โอ) ทางโซเซียลมีเดีย เพิ่งได้พบตัวจริง ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ผมกล่าวคำขอบคุณท่านที่ช่วยนำผู้เข้ารับการอบรมฯ มาฝึกปฏิบัติในพื้นที่  จ.ราชบุรี โดยหวังไว้ในใจว่า จะทำให้ชาวราชบุรีได้รู้ว่า "พื้นที่ธรรมชาติที่สวยงามและมีสภาพท้องฟ้าที่มืดของ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ได้" ซึ่งหากส่งเสริมและพัฒนาได้สำเร็จจะทำให้ อ.สวนผึ้ง และบ้านคา มีกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นก็ยังหวังว่าจะได้ภาพทางช้างเผือกสวย ๆ จากอ่างเก็บน้ำบ้านตะเคียนทอง จะได้ไปอวดโฉมในโลกออนไลน์อย่างจังหวัดอื่น ๆ เขาบ้าง

อาจารย์โอ กล่าวกับผมว่า หากมีคนราชบุรีที่สนใจที่อยากถ่ายภาพดาราศาสตร์และทางช้างเผือก รวมกลุ่มกันได้พอสมควร ท่านยินดีที่จะเดินทางมาสอนให้ที่ราชบุรีเลย ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ

กำหนดการฝึกภาคปฏิบัติของ อ.วิรติ กีรติกานต์ชัย
ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี

อ.วิรติ กีรติกานต์ชัย (คนขวา)

อาจารย์ พลอากาศตรี ฐากูร เกิดแก้ว (คนซ้าย)
อ.วิรติ กีรติกานต์ชัย (คนขวา)





การสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ จ.ราชบุรี 
ช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ 24 เม.ย.2564 ผมได้มีโอกาสได้พบกับ อ.สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ และท่านพฤฒิ  เกิดชูชื่น ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ซึ่งท่านได้พยายามรณรงค์เรื่องการสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Place) ในประเทศไทย เพื่อลดมลภาวะทางแสงที่มันกำลังทำลายสุขภาพมนุษย์ สัตว์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมบนโลกของเราอยู่  ท่านได้เชิญชวนให้ มรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี เป็นแกนหลักช่วยประสานงานเรื่องการสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งทางชมรมฯ ตอบตกลงและยินดีที่จะช่วยดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มกำลัง 

หารือเรื่องการสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดใน จ.ราชบุรี
ลาทอสคาน่า รีสอร์ท อ.สวนผึ้ง จ.ราบุรี 

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) อุทยานท้องฟ้ามืด 2) ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด 3) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และ 4) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง ท่านใดสนใจและต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถลิงค์เข้าไปดูได้ที่ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky)

รัตติกาลที่หายไป (Losing The Dark)
ทางที่ปรึกษา NARIT ได้มอบคลิบวิดีโอเรื่อง "รัตติกาลที่หายไป (Losing The Dark)" เพื่อให้ทางชมรมฯ ช่วยเผยแพร่ให้คนราชบุรีและบุคคลทั่วไปได้รับทราบ เรื่องมลภาวะทางแสง โดยมีความยาวเพียง 6 : 25 นาที  ซึ่งเป็นวิดีโอที่จัดทำโดยสมาคมท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association : IDA) เผยแพร่เป็นสาธารณะ นำมาใส่คำบรรยายภาษาไทยโดย อ.สุรชัย ท้วมสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) วัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และให้ความรู้แก่คนไทยได้หันมาตระหนักเรื่องมลภาวะทางแสง (Light Pollution) และช่วยกันควบคุมและป้องกันไม่ให้แสงไฟสว่างเรืองขึ้นไปบนท้องฟ้า (Sky Glow) ลองชมกันดูนะครับ


สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากลปี 2565
ช่วงนี้ อยูู่ในช่วงของ "สัปดาห์ท้องฟ้ามืดสากลปี 2565 (International Dark Sky Week 2022)" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 เม.ย.2565 ภายใต้แคมเปญ "Discover the Night" โดย สมาคมท้องฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association - IDA) หากท่านใดต้องการทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ Dark Sky สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ ในบทความด้านล่างเหล่านี้ 

อ่านเพิ่มเติม

เปิดใจให้กว้าง
สิ่งสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ก็คือ การที่มนุษย์ไม่ยอมเปิดใจรับฟังและยอมรับความรู้ที่เป็นสากลและเป็นวิทยาศาสตร์ มลภาวะทางแสงกำลังคุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ของทุกชีวิตบนโลกนี้ หากเราเรียนรู้ที่จะแก้ไขมันจริง ๆ เราจะพบทางเลือก 2 ทางระหว่างการสูญเสียพลังงานด้วยการส่องไฟขึ้นไปบนฟ้า หรือ เรียนรู้ที่จะใช้ไฟฟ้าอย่างรับผิดชอบต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มลภาะวะทางแสงเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข ถ้าเราร่วมมือกัน เราก็สามารถนำท้องฟ้าที่สวยงามยามราตรีกลบมาสู่โลกได้อีกครั้ง

ช่วยกันตามหารัตติกาลที่หายไป

*********************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
25 เม.ย.2565

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก