Translate

ผลการศึกษาภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย พ.ศ.2565

การศึกษาภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย พ.ศ.2565 
โดย ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี

เนื้อหา
  • กล่าวทั่วไป
  • วัตถุประสงค์ของการศึกษา
  • ขอบเขตของการศึกษา
  • ผลการศึกษา
    • ข้อมูลทั่วไป
    • จังหวัดที่มีสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกมากที่สุด
    • สถานที่ที่มีผู้โพสต์ภาพถ่ายทางช้างเผือกมากที่สุด
    • จังหวัดที่มีการโพสต์ภาพถ่ายทางช้างเผือกมากที่สุด
    • พฤติกรรมของผู้ที่ถ่ายภาพช้างเผือก
  • อภิปรายผลการศึกษา 
  • ประโยชน์ที่คาดหวังจากศึกษา
***************************
กล่าวทั่วไป
ภาพถ่ายทางช้างเผือก (Milky way) จากสถานที่ต่าง ๆ  ในประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 นับเป็นภาพถ่ายที่ทรงคุณค่าทางดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยว ซึ่งเจ้าของภาพหรือผู้ถ่ายได้เผยแพร่เป็นสาธารณะในโลกออนไลน์ ภาพบางภาพยังได้อธิบายรายละเอียดสถานที่และเทคนิควิธีการถ่ายภาพไว้ด้วย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ ต่อยอดและพัฒนา เพื่อให้การถ่ายภาพทางช้างเผือกมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น

หลังจากได้รวบรวมภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย พ.ศ.2565 เสร็จเรียบร้อยแล้ว (ดูรายละเอียด) ทางชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี จึงได้นำมาศึกษาวิเคราะห์ในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อแวดวงทางดาราศาสตร์ของไทยต่อไป

วัตถุประสงค์ของการศึกษา
  1. รวบรวมสถานที่ที่มีการถ่ายภาพทางช้างเผือกในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2565
  2. จัดลำดับสถานที่ที่มีคนโพสต์ภาพถ่ายทางช้างเผือกมากที่สุด
  3. ศึกษาพฤติกรรมของผู้ที่ถ่ายภาพทางช้างเผือก
ขอบเขตของการศึกษา
  1. ศึกษาเฉพาะภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทยที่สามารถระบุสถานที่ถ่ายภาพได้ และผู้ถ่ายได้โพสต์ลงเฟสบุ๊คกลุ่มสาธารณะ จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 
  2. ห้วงเวลาที่เก็บข้อมูล 1 ม.ค.2565-31 ธ.ค.2565 

ผลการศึกษา
ข้อมูลทั่วไป
  1. จำนวนภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทยที่โพสต์ไว้ ในปี พ.ศ.2565 มีจำนวนทั้งสิ้น  1,464 ภาพ จากผู้ถ่ายภาพ จำนวนทั้งสิ้น 401 คน (ดูรายละเอียด)
  2. สถานที่ที่มีการภาพถ่ายทางช้างเผือก รวม 445 แห่ง จาก 62 จังหวัด 
จังหวัดที่มีสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกมากที่สุด 
10 อันดับแรก (เรียงจากมากไปหาน้อย)  ได้แก่
  1. จ.เชียงใหม่  จำนวน 50 แห่ง
  2. จ.กาญจนบุรี  จำนวน 31 แห่ง
  3. จ.เชียงราย  จำนวน 19 แห่ง
  4. จ.พังงา และ จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 18 แห่ง
  5. จ.เลย        จำนวน 16 แห่ง
  6. จ.เพชรบุรี   จำนวน 14 แห่ง
  7. จ.ประจวบคิรีขันธ์  จำนวน 13 แห่ง
  8. จ.อุบลราชธานี, จ.น่าน และ จ.เพชรบูรณ์ จำนวน 12 แห่ง
  9. จ.ลำปาง, จ.ชุมพร, จ.ชัยภูมิ และ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 11 แห่ง
  10. จ.ระนอง จำนวน 10 แห่ง
สถานที่ที่มีผู้โพสต์ภาพถ่ายทางช้างเผือกมากที่สุด
10 อันดับแรก (เรียงจากมากไปหาน้อย) ได้แก่
  • อันดับ 1 บ้านป่าปงเปียง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (จำนวน 23 คน) 
  • อันดับ 2 ดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ (จำนวน 20 คน)
  • อันดับ 3 พระมหาธาตุนภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (จำนวน 18 คน)
  • อันดับ 4 ทะเลหมอกฆูนุงซีลีปัต ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา (จำนวน 15 คน)
  • อันดับ 5 จุดชมวิว กม.41 ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (จำนวน 14 คน)
  • อันดับ 6 สามพันโบก อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี (จำนวน 13 คน)
  • อันดับ 7 (จำนวน 11 คน)
    • คลองปากประ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง 
    • บ้านแฝด สะพานเอกชัย (ระโนด - ทะเลน้อย)​ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง  
    • จุดชมวิวฮาดู่บิ ม่อนชมวิวดอยหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 
  • อันดับ 8 เสม็ดนางชี อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา (จำนวน 9 คน)
  • อันดับ 9 (จำนวน 8 คน)
    • มอหินขาว อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อ.เมือง จ.ชัยภูมิ 
    • อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ 
  • อันดับ 10 (จำนวน 7 คน) 
    • อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
    • วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
จังหวัดที่มีการโพสต์ภาพถ่ายทางช้างเผือกมากที่สุด
10 อันดับแรก (เรียงจากมากไปหาน้อย) ได้แก่
  1. จ.เชียงใหม่    จำนวน 269 ภาพ
  2. จ.กาญจนบุรี   จำนวน 114 ภาพ
  3. จ.เชียงราย     จำนวน  83 ภาพ
  4. จ.พังงา         จำนวน  62 ภาพ
  5. จ.ชัยภูมิ และ จ.ยะลา จำนวน  53 ภาพ
  6. จ.พัทลุง        จำนวน  50 ภาพ
  7. จ.ระนอง        จำนวน 47 ภาพ
  8. จ.สุราษฎร์ธานี  จำนวน 46 ภาพ
  9. จ.อุบลราชธานี  จำนวน 45 ภาพ
  10. จ.แม่ฮ่องสอน   จำนวน 44 ภาพ
พฤติกรรมของผู้ที่ถ่ายภาพช้างเผือก
จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ที่ถ่ายภาพทางช้างเผือก จำนวน 401 คน พบว่า จำนวนร้อยละของผู้ที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกจากจำนวนสถานที่ที่ถ่าย ตลอดปี 2565 จำแนกได้ ดังนี้ 
  • ถ่ายในสถานที่เพียงแห่งเดียว จำนวน 291 คน คิดเป็นร้อยละ 72.56 (มากที่สุด)
  • ถ่ายในสถานที่ 2 แห่ง จำนวน 48 คน คิดเป็นร้อยละ 11.97
  • ถ่ายในสถานที่ 3-5 แห่ง จำนวน 44 คน คิดเป็นร้อยละ 10.97
  • ถ่ายในสถานที่ 6-10 แห่ง จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 3.49
  • ถ่ายในสถานที่มากกว่า 10 แห่งขึ้นไป จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 1.01
หากแยกพฤติกรรมเป็นรายบุคคล ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพทางช้างเผือกจริง ๆ ที่เราชอบเรียกว่า นักล่าช้าง (Milky way hunter) จะพบนักล่าช้าง 2 ลักษณะดังนี้ 
  • นักล่าช้างประจำถิ่น (Local milky way hunter) หมายถึง ผู้ที่เสาะหาสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกในจังหวัดที่ตนเองอาศัยอยู่ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงเป็นบางครั้ง ได้แก่
  • นักล่าช้างระดับชาติ (Nation milky way hunter) หมายถึง ผู้ที่เดินทางเสาะแสวงหาสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกทั่วประเทศไทย ได้แก่ 
    • Rungsak Bandornsak จำนวน 18 แห่ง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่(1) ตรัง(1) นครศรีธรรมราช(2) พังงา(4) พัทลุง(2) เพชรบูรณ์(1) เพชรบุรี(1) ระยอง(1) เลย (1) สงขลา(1) สุราษฎร์ธานี(1) หนองคาย (1) หนองบัวลำภู(1)
    • Songyut Supadach จำนวน 17 แห่ง ในพื้นที่  จ.กาญจนบุรี(1) ขอนแก่น(1) เชียงใหม่(1) นครศรีธรรมราช(1) พัทลุง(2) พิษณุโลก(2) ยะลา(2) เลย(1) สระแก้ว(1) สงขลา(2) สุรินทร์(1) สุโขทัย(1) อุบลราชธานี(1) 
    • มงคลบารมี ระยอง จำนวน 17 แห่ง ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี(3) จันทบุรี(2) ชัยภูมิ(2) พิษณุโลก(2) ระยอง(5) ราชบุรี(1) ลพบุรี(1) สระแก้ว(1) 
    • Nattakorn Prasansin จำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร(1) กาญจนบุรี(3) ตาก(1) ตราด(1) นครนายก(1) พิษณุโลก(1) ราชบุรี(1) 
    • Pathomphong Chantachot จำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี(3) เชียงใหม่(1) เชียงราย(2) ชัยภูมิ (1) ราชบุรี(1) อุบลราชธานี(1)
    • Vachira Thomas จำนวน 9 แห่ง ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่(1) พัทลุง(2) พิษณุโลก(1) แพร่(2) ลำปาง(1) สงขลา(1) สุโขทัย(1) 
ศึกษาฐานข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "รวมภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย ปี 2565"

อภิปรายผลการศึกษา 
การรวบรวมภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 นี้ เป็นเพียงการรวบรวมและจัดระเบียบข้อมูล  เพื่อให้สามารถทราบได้ว่า สถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกในประเทศไทย มีอยู่ที่ใดบ้าง และอยู่ในจังหวัดใด มีคนนิยมไปถ่ายภาพมากน้อยแค่ไหน และหากผู้ที่เปิดภาพแต่ละภาพดู จะได้ทราบถึงลักษณะพื้นที่ เทคนิควิธีการถ่าย และการจัดองค์ประกอบของภาพ ซึ่งจะเป็นความรู้พื้นฐานเพื่อปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาให้การถ่ายภาพทางช้างเผือกมีความสวยงาม และสมจริงมากยิ่งขึ้น 

ภาพที่รวบรวมไว้จำนวน 1,464 ภาพ จากผู้ถ่าย 401 คน จาก 445 สถานที่ใน 62 จังหวัด เป็นภาพที่ผู้โพสต์ได้ระบุสถานที่ถ่ายภาพเอาไว้ชัดเจน แต่น่าเสียดาย ยังมีอีกกว่า 200 ภาพ ที่ผู้โพสต์ไม่ได้ระบุสถานที่ถ่ายภาพไว้ ภาพถ่ายที่รวบรวมไว้เป็นเชิงปริมาณ ไม่ได้เชิงคุณภาพ อาจมีทั้งภาพที่สวยและไม่สวย หรือเป็นภาพที่มือใหม่หัดถ่าย แล้วโพสต์ขอคำแนะนำก็มีมาก อาจจะเห็นลาง ๆ ไม่ชัดเจนก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการถ่ายภาพทางช้างเผือกแล้ว  

จังหวัดที่มีการถ่ายภาพทางช้างเผือก ในปีนี้มีอยู่ 62 จังหวัด ส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณที่ท้องฟ้ามืด บนดอย บนภูเขา ริมทะเล ในอุทยานแห่งชาติ หรือชานเมือง แต่อีก 15 จังหวัด ยังไม่มีภาพถ่ายปรากฏเลย สำหรับบางจังหวัดที่มีแสงไฟในเมืองจ้ามาก ๆ เช่น กรุงเทพฯ ก็คงไม่สามารถถ่ายได้ 

การวิเคราะห์เปรียบเทียบสถิติการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในปี 2565 กับปี 2564 ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ เพราะปี 2564 ไม่ได้จัดทำข้อมูลไว้ (หรืออาจจะมีคนจัดทำ แต่ผมค้นหาไม่พบ) สำหรับในปี 2565 จำนวนนักล่าทางช้างเผือกอาจมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็เป็นไปได้ 

จากผลการศึกษาภาพถ่ายทางช้างเผือกในประเทศไทย พ.ศ.2565 หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ต่อนักจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ สถาบันดาราศาสตร์ หน่วยงานราชการ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป

ประโยชน์ที่คาดหวังจากศึกษา
  1. เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ประสงค์จะถ่ายภาพทางช้างเผือกในปี 2566  ในสถานที่แห่งเดิมโดยปรับปรุงเทคนิควิธี และองค์ประกอบของภาพให้ดีขึ้น
  2. เป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่ต้องการเสาะแสวงหาสถานที่ถ่ายภาพทางช้างเผือกแห่งใหม่ ๆ ที่ยังเคยไม่มีใครถ่ายมาก่อน
  3. เพื่อเป็นการแรงบันดาลใจให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป หันมาสนใจการดูดาวและการถ่ายภาพดาราศาสตร์
  4. เป็นแนวทางให้นักยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ สถาบันดาราศาสตร์ หน่วยงานราชการ และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาต่อไป
*******************************
จัดทำโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี

1 ม.ค.2566





ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ2 มกราคม 2566 เวลา 16:46

    เยี่ยมเลยครับอาจารย์ เป็นการศึกษาที่มีประโยชน์มากๆครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก