พรุ่งนี้ (22 ธ.ค.2565) ลองมาสร้างสัญลักษณ์ "วันเหมายัน" ในสวนบ้านเรากันดู
ในสมัยโบราณ ผู้คนชอบสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อเชื่อมโยงกับตำแหน่งการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว จนบางครั้งก็ยังเป็นปริศนาให้เราค้นหาคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.2565) จะเป็น "วันเหมายัน" ทำไม? เราไม่ลองสร้างสัญลักษณ์การขึ้นของดวงอาทิตย์ไว้ในสวนบ้านเรากันบ้าง ใครมีแนวความคิดดี ๆ ลองสร้างดูนะครับ
วันเหมายัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับก้อนหินที่มีชื่อ Heel Stone ของ กองหินสโตนจ์เฮ้นน์ (Stonehenge) ณ ประเทศอังกฤษ ที่มาของภาพ (SANOOK.2564) |
วันเริ่มต้นฤดูกาลต่าง ๆ ที่มาของภาพ (Nai Yaud's Blog. 2560) |
การสร้างสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อเตือนการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล
หากดูภาพข้างบนเข้าใจแล้ว เราจะพบได้ว่า ในสมัยโบราณ จะมีการสร้างปฏิมากรรมแท่งหิน ปิรามิด ปราสาท วิหาร หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งมีความผูกพันและเชื่อมโยงกับตำแหน่งการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว และท้องฟ้า อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการสังเกตอย่างแยบยล สำหรับในด้านการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้าในรอบปี จะสามารถบ่งบอกห้วงเวลาของเแต่ละฤดูกาลของสถานที่นั้น ๆ ได้ ดังนี้
- ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 21 มี.ค. หมายถึง เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ในซีกโลกใต้ (เวลากลางวัน=กลางคืน) เรียกวันนี้ว่า วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox)
- ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 21 หรือ 22 มิ.ย. หมายถึง เริ่มต้นฤดูร้อน ในซีกโลกเหนือ (เวลากลางวันยาวที่สุด) และเริ่มต้นฤดูหนาว ในซีกโลกใต้ (เวลากลางวันสั้นที่สุด) เรียกวันนี้ว่า ครีษมายัน (Summer Solstice)
- ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 23 ก.ย. หมายถึง เริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง ในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ในซีกโลกใต้ (เวลากลางวัน=กลางคืน) เรียกวันนี้ว่า ศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)
- ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ 21 หรือ 22 ธ.ค. หมายถึง เริ่มต้นฤดูหนาว ในซีกโลกเหนือ (เวลากลางวันสั้นที่สุด) และเริ่มต้นฤดูร้อน ในซีกโลกใต้ (เวลากลางวันยาวที่สุด) เรียกวันนี้ว่า เหมายัน (Winter Solstice)
ในวันเหมายัน (winter solstice) ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงกับตำแหน่งประตูสุสาน ฉายแสงตรงเข้าไปยังห้องเก็บศพ ที่มาของภาพ (BBC NEWSไทย.2563) |
ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก จ.สกลนคร ปฎิทินดวงอาทิตย์โบราณ แสดงตำแหน่งขึ้นของดวงอาทิตย์ในวันสำคัญต่างๆ รวมถึง "วันเหมายัน"ด้วย ที่มาของภาพ (SummerB. 2564) |
เริ่มต้นสร้างสัญลักษณ์"วันเหมายัน" ในสวนบ้านเรา
การสร้างสัญลักษณ์วันเหมายันในสวน ประกอบด้วย 2 เงื่อนไข คือ 1) พื้นที่ที่จะสร้างควรมองเห็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ขึ้นได้ และ 2) จุดที่เราเลือกจะนั่งสังเกตการณ์ พอตอนเช้ามืดดวงอาทิตย์ขึ้นก็เอาไม้ไปปักตามแนวทิศทางที่ดวงอาทิตย์ขึ้น หลังจากนั้นค่อยไปหาก้อนหินสวย ๆ มาประดับแทน แค่นี้เราก็ได้หินเหมายัน สัญลักษณ์การเริ่มต้นฤดูหนาว แบบง่าย ๆ ไว้ที่สวนบ้านเราแล้ว
แต่ละพื้นที่ จะมองเห็นไม่เหมือนกันนะครับ ขึ้นอยู่กับพื้นที่สวนและตำแหน่งของคุณเองด้วย สำหรับพื้นที่ใน จ.ราชบุรี พรุ่งนี้ (22 ธ.ค.2565) ดวงอาทิตย์ขึ้น เวลา 06:37 น. ขึ้นทางมุมทิศ 114° (ใครมีเข็มทิศเอาช่วยคำนวณ) อย่าลืม ตื่นแต่เช้าเอาไม้ไปปักไว้ก่อนนะครับ
ยิ่งบ้านพัก โฮมสเตย์ รีสอร์ท โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว หรืออุทยานแห่งชาติที่อยู่บนภูเขา หรือยอดดอยสูง ๆ น่าทำสัญลักษณ์ "วันเหมายัน" กันดูเพื่อเป็น Landmark แห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว แล้วพอปีหน้าก็ทยอยเพิ่มอีก 3 วัน คือ วันวสันตวิษุวัต วันครีษมายัน และวันศารทวิษุวัต แค่นี้เราก็ไม่อายคนโบราณแล้วครับ
ผู้คนนับพันไปเฝ้ารอแสงอาทิตย์แรกของวันเหมายัน
วันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการที่สโตนเฮนจ์ ในอังกฤษ
ที่มาของภาพ (BBC NEWSไทย.2564)
****************************
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
ที่มาข้อมูล
- SANOOK. (2564). ความเชื่อ"วันครีษมายัน" 21 มิ.ย. กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี. [Online]. Available : https://www.sanook.com/horoscope/142217/. [2565 ธันวาคม 21].
- Nai Yaud's Blog. (2560). วันเหมายัน. [Online]. Available : https://9yaud.wordpress.com/2017/12/22/วันเหมายัน/. [2565 ธันวาม 21].
- ฺBBC NEWSไทย. (2563). ดีเอ็นเอเผย กษัตริย์ยุคหินใหม่ของไอร์แลนด์คือทายาทของคู่สมรสที่เป็นพี่น้องกัน. [Online]. Available : https://www.bbc.com/thai/features-53108846. [2565 ธันวาคม 21].
- BBC NEWSไทย. (2564). วันเหมายัน 21 ธ.ค. 2564 กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี. [Online]. Available : https://www.bbc.com/thai/features-50881360. [2565 ธันวาคม 21].
- SummerB. (2564). พระธาตุภูเพ็ก ที่เที่ยวสกลนคร ปราสาทหินศักดิ์สิทธิ์ ปฏิทินดวงอาทิตย์โบราณ. [Online]. Available : https://travel.trueid.net/detail/an799mK8VzEy. [2565 ธันวาคม 21].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น