Translate

ชวนคนราชบุรีสังเกตุการณ์ดาวอังคารใกล้โลก : วิธีการดูด้วยตาปล่าวที่บ้านเราเอง

ในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 นี้ ดาวอังคารจะโคจรมาตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 81.5 ล้านกิโลเมตร  จึงขอเชิญชวนชาวราชบุรีเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ร่วมกัน


ไม่ดูครั้งนี้ ต้องรออีก 15 ปี
ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกในทุก ๆ 2 ปี 2 เดือน และจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดทุก ๆ 15 - 17 ปี นั่นหมายถึง กว่าเราจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้อีกครั้งก็กินเวลาอย่างน้อยอีก 15 ปี เลยทีเดียว ดังนั้นคืนนี้ ไม่ควรพลาดชม

วิธีการดูด้วยตาปล่าว ที่บ้านเราเอง
หากไม่มีกล้องโทรทรรศน์ หรือกล้องส่องทางไกล ดูด้วยตาปล่าวก็ได้ครับ โดยขออนุญาตแนะนำวิธีการดู และจำลองภาพที่จะเห็นแบบเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ ครับ
  • พื้นที่ จ.ราชบุรีบ้านเรา ดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลา 17.51 น.
  • หลังจากดวงอาทิตย์ตกแล้ว ให้หันหน้าไปทางทิศตรงกันข้าม จะเห็นดาวอังคาร (ดวงสีส้ม) จะเริ่มโผล่พ้นขอบฟ้าช่วงระหว่างทิศตะวันออกเฉียงเหนือกับทิศตะวันออก (มุมทิศประมาณ 64°) ในเวลาประมาณ 18.20 น. ช่วงแรกอาจยังไม่สว่างมากเพราะยังไม่สิ้นแสงเงินแสงทอง (ดูภาพที่ 1) ซึ่งจะค่อยๆ เห็นได้ชัดเจนขึ้น หลังเวลา 18.51 น.เป็นต้นไป

ภาพที่ 1

สำหรับท่านใดอยู่ในจุดที่มองไม่เห็นเส้นขอบฟ้า  เช่น มีอาคาร บ้านเรือน ตึก ภูเขา หรือสิ่งปลูกสร้างบัง ก็ให้รออีกนิด รอจนดาวอังคารขึ้นสูงทำมุมเงยประมาณ 15° จากเส้นขอบฟ้า กะเวลาประมาณ 19.30 น. ก็จะน่าลอยสูงขึ้นพ้นสิ่งกีดขวางที่บดบังอยู่  (ดูภาพที่ 2) หลังจากนั้นดาวอังคารจะขึ้นให้เห็นไปตลอดทั้งคืน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้า และตกทางทิศตะวันตก

ภาพที่ 2

หากท้องฟ้าคืนนี้ แจ่มใส ไร้เมฆหมอก เราคงได้เห็นดาวอังคารแน่ แสงของดวงจันทร์ขึ้น 8 ค่ำคืนนี้ น่าจะไม่มีอิทธิพลใด ๆ ต่อการมองเห็นดาวอังคาร เพราะเป็นดวงจันทร์ค้างฟ้า ขึ้นมาตั้งแต่ บ่ายโมง 10 นาที และจะตกทางทิศตะวันตกประมาณ เที่ยงคืน 23 นาที 

ท่านใดที่พอมีทักษะในการถ่ายภาพดาว ก็ลองถ่ายไว้ดูนะครับ  แล้วมาแบ่งปันกันชม ขอให้ทุกท่านสนุกและตื่นเต้นไปกับการดูดาวอังคาร ในครั้งนี้นะครับ

**********************
จัดทำโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
1 ธ.ค.2565





ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก