Translate

เคอร์ฟิวแสงสว่างในเมืองใหญ่ ลดมลพิษทางแสง ประหยัดพลังงาน

บรรษัทที่ปรึกษาของกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ได้เสนอให้ตั้งโซนความสว่าง (Brightness Zone) ลดการใช้ไฟฟ้าส่องสว่างที่ไม่จำเป็น


กรุงลอนดอน : เคอร์ฟิวการใช้ไฟ
Dark-sky Thailand ได้โพสต์ลงในเพจเฟสบุ๊ค กล่าว
ว่า บรรษัทที่ปรึกษาของกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ได้เสนอให้ตั้งโซนความสว่าง (Brightness Zone) ลดการใช้ไฟฟ้าส่องสว่างที่ไม่จำเป็นทั้งในและนอกอาคารกลางเมือง เป็นพื้นที่ 1.12 ตารางไมล์หรือราว 1,813 ไร่ เริ่มจากทาวเวอร์อ็อฟลอนดอน (Tower of London) โดยเสนอให้เคอร์ฟิวการใช้ไฟ 3 ขั้นตอน คือ 
  1. ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ให้อาคารที่อยู่อาศัยและพื้นที่อนุรักษ์ ปิดไฟ 
  2. ตั้งแต่ 5 ทุ่ม ปิดไฟพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว 
  3. หลังเที่ยงคืน ปิดไฟสถานีขนส่ง ค้าปลีก และอาคารสำนักงาน 
โดยวิธีการปิดไฟแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เปิด-ปิดไฟอัตโนมัติแบบตั้งเวลา และแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว (ยกเว้นพื้นที่ ๆ ที่จำเป็นต้องมีไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย)

โดยข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงคำแนะนำแนวทางปฏิบัติ ไม่ใช่กฎระเบียบที่จะให้ทุกคนต้องทำตาม คงเพียงแต่ขอความร่วมมือเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการลดมลพิษทางแสง ลดการใช้พลังงาน และการก่อก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือ เชื่อว่าจะช่วยให้การก่อคาร์บอนในพื้นที่ 1 ตารางไมล์ของกรุงลอนดอนนี้ ให้เป็นศูนย์ได้ ภายในปี พ.ศ.2583

เสนอเมืองหลวงไทยลองทำบ้าง
ทาง Dark-sky Thailand ได้นำแนวคิดนี้ เสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลองพิจารณาให้มีการตั้งโซนทดลอง (pilot zone)  เพื่อนำร่องดู โดยดำเนินการดังนี้ 
  1. ใช้โคมบังคับแสงไฟให้ส่องลงถนน/ทางเท้า ไม่ให้ขึ้นฟ้า ซึ่งจะใช้หลอดไฟที่ใช้พลังน้อยลงได้แต่ให้ความสว่างเท่าเดิม 
  2. ใช้ระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว อันจะลดการใช้ไฟฟ้าได้มากที่สุด แถมยังได้ความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสามารถสังเกตุได้ว่ามีคนอยู่บริเวณนั้นหรือไม่ 
  3. เปลี่ยนหลอดไฟให้ใช้แต่ชนิดอุณหภูมิสีไม่เกิน 3000K เพื่อลดผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์และพืช
เริ่มต้นจากเคอร์ฟิวส์แสงสว่างในเมือง
เรื่องเคอร์ฟิวส์แสงสว่างในเมืองนี้ เป็นแนวคิดที่ดี และกระทำได้ง่ายที่สุด  เราลองเริ่มจากเขตเทศบาลตำบลเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ เพียงแต่ขอให้นายกเทศมนตรีตำบลนั้น ๆ  มีวิสัยทัศน์ กล้าทำ และกล้าริเริ่ม  โดยหลักการแรกก็คือ "ต้องควบคุมการเปิดและปิด ไฟส่องสว่างที่เป็นสาธารณะในพื้นที่ให้ได้เสียก่อน"

ไฟส่องถนนที่เปิดทิ้งไว้ถึงเช้า แม้จะไม่มีการสัญจร

ปัจจุบัน เรามักจะชอบออกแบบไฟส่องสว่างถนน หรือไฟส่องสว่างในพื้นที่ที่เป็นสาธารณะ แบบเปิด-ปิด ด้วยระบบสวิทซ์แสง (Photo switch) คือ เมื่อมืด-ไฟจะเปิด เมื่อสว่าง-ไฟจะปิด ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง เพราะไฟส่องสว่างระบบนี้จะเปิดทั้งคืน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครใช้ประโยชน์ เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ ก่อให้เกิดมลพิษทางแสง ก่อก๊าซเรือนกระจก ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ง่าย ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เราใช้ไฟแสงสว่างมากเกินความจำเป็น  เช่น
  • สวนสาธารณะ ที่เปิดไฟทั้งคืนจนถึงเช้า ทั้ง ๆ ที่ สวนสาธารณะนั้นปิดให้บริการแค่เวลา 21:00 น.
  • ไฟส่องสว่างถนน/ทางเดิน ที่เปิดไฟทั้งคืนจนถึงเช้า  ทั้ง ๆ ที่หลัง 22:00 น. แทบจะไม่มีรถวิ่งหรือคนเดิน
  • ลานจอดรถสาธารณะ ที่เปิดไฟทั้งคืน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีรถจอด
  • อาคาร สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงเรียน ที่เปิดไฟสว่างไสวเกินความจำเป็นตลอดทั้งคืน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีกิจกรรมใดใด เพียงเปิดเพื่อประดับตกแต่งและป้องกันการลักโขมย
  • ฯลฯ
สวนสาธารณะที่ปิดบริการแล้ว แต่กลับเปิดไฟไว้ทั้งคืน

ไฟถนนที่สว่างเกินความจำเป็น  ควรสามารถปิดไฟได้ เมื่อไม่มีคนสัญจร

ระบบเปิด-ปิดไฟส่องสว่างที่ดี 
ไฟส่องสว่างที่ดี ควรใช้ระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ สามารถตั้งเวลาได้ตามที่ต้องการ และหลังจากไฟดับแล้ว ควรมีเซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว หากมีการเคลื่อนไหว ไฟก็จะติดเองโดยอัติโนมัติ ซึ่งหากตรงไหนมีไฟติดขึ้น ก็จะทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตรงนั้นมีการเคลื่อนไหว

การเคอร์ฟิวส์แสงสว่าง แบบที่บรรษัทที่ปรึกษาของกรุงลอนดอนเสนอ อาจเริ่มได้ในเทศบาลตำบลเล็ก ๆ ของประเทศไทย โดยตั้งแต่ 4 ทุ่มให้อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ปิดไฟที่ไม่จำเป็น  พอ 5 ทุ่ม ปิดไฟพื้นที่บริการสาธารณะต่าง ๆ  พอเที่ยงคืนปิดไฟถนนหนทาง เหลือไว้เฉพาะที่ที่จำเป็นที่ต้องมีไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย 

อ่านเพิ่มเติม
************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
13 มี.ค.2566



ที่มาข้อมูล
  • Dark-Sky Thailand. (2566). [Online]. Available : https://web.facebook.com/photo?fbid=654970169968827&set=a.186298633502652. [2566 มีนาคม 13].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก