Translate

24 มี.ค.2566 อย่าพลาดชมปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวศุกร์" มีเวลาถ่ายภาพช็อตเด็ดเพียง 5 นาที

วันศุกร์ที่ 24 มี.ค.2566 จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวศุกร์" โดยในวันนั้น จะเป็น "ดวงจันทร์เสี้ยว ขึ้น 3 ค่ำ" หลังดวงอาทิตย์ตกดิน ดวงจันทร์จะปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันตก ด้วยมุมเงย 32°
 

เนื้อหา
  • ตารางเวลาการเกิดปรากฏการณ์
  • มีเวลาถ่ายภาพช็อตเด็ดเพียง 5 นาที
  • การถ่ายด้วย Smart Phone
  • ไม่มีกฏตายตัว
  • ซ้อมถ่ายก่อนก็ดี
  • ปัจฉิมลิขิต
ตารางเวลาการเกิดปรากฏการณ์
(เป็นเวลาสำหรับผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่ จ.ราชบุรี พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยอาจเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย)
  • เวลา 18:32 น.ดวงอาทิตย์ตก เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาทางการ (Civil Twilight) 
  • วลา 18:36 น.ดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ (น่าจะมองไม่เห็น เนื่องจากแสงของดวงอาทิตย์ยังมีอิทธิพลอยู่ )
  • เวลา 18:41 น.ดาวศุกร์ถูกบังหมดดวง
  • เวลา 18:53 น.เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาเดินเรือ (Nautical Twilight)
  • เวลา 19:18 น.เริ่มเข้าสู่แสงสนธยาดาราศาสตร์ (Astronomical Twilight) (น่าจะเริ่มมองเห็นดวงจันทร์และดาวศุกร์ หากท้องฟ้าโปร่ง ไร้เมฆไร้ฝุ่น)
  • เวลา 19:41 น.ดาวศุกร์เริ่มโผล่จากดวงจันทร์
  • เวลา 19:43 น.สิ้นสุดแสงสนธยาดาราศาสตร์ เริ่มมืด
  • เวลา 19:46 น.ดาวศุกร์โผล่พ้นดวงจันทร์ทั้งดวง 


คลิบวิดีโอจำลองดาวศุกร์บังดวงจันทร์
จัดทำจาก #Stellarium

มีเวลาถ่ายภาพช็อตเด็ดเพียง 5 นาที
ปรากฏการณ์แบบนี้ ใครมีกล้องระดับมืออาชีพ หรือใครจะถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ ก็ต้องคำนวณวางแผนเวลาและจังหวะให้พอดี ตอนดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์น่าจะถ่ายไม่ได้ เพราะมองไม่เห็น แสงดวงอาทิตย์ยังคงมีอิทธิพลอยู่ 

จังหวะที่น่าจะมองเห็นและถ่ายภาพได้ดีที่สุด คือ ตอนดาวศุกร์เริ่มโผล่พ้นดวงจันทร์จนหลุดพ้นทั้งดวง (เวลา 19:41-19:46 น.) ช่วงนี้แหละครับ ตั้งกล้องเตรียมได้เลยครับ กดชัตเตอร์รัว ๆ หรือ ใครจะถ่ายเป็นคลิบวิดีโอก็จะได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น เป็นคลิบวิดีโอประวัติศาสตร์ได้เลย 

การถ่ายด้วย Smart Phone
ใครมีแต่โทรศัพท์มือถือ แต่อยากถ่ายรูปเก็บไว้ในแกลอรี่ ถ่ายได้เช่นกันครับ โทรศัพท์มือถือเดี๋ยวนี้ มีฟีเจอร์ในการถ่ายภาพที่สุดยอดครับ  แต่ละยี่ห้ออาจมีโหมดที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าโทรศัพท์รุ่นใด ให้ยึดหลักการสำคัญ ไว้ดังนี้
  1. ให้ถ่ายรูปโดยใช้โหมดแสงน้อย หรือ โหมดถ่ายภาพในตอนกลางคืน  เช่น Night Mode, Supermoon, Master AI เป็นต้น
  2. หากโทรศัพท์เครื่องใดไม่มีโหมดดังกล่าวให้เลือกโหมดตั้งค่าถ่ายเอง (Manual Setting หรือ Pro mode)
  3. การ Zoom ให้ใช้ตามความสามารถของโทรศัพท์แต่ละรุ่นได้เลย หากกล้องมือถือรุ่นใดที่มี Optical Zoom หรือ Space Zoom ยิ่งดี (ไม่มีก็ไม่เป็นไรครับ)
  4. การปรับโฟกัส ให้ใช้การปรับด้วยมือ (MF) โดยเลือกจุดโฟกัสไปที่ดวงจันทร์ 
  5. การใช้โหมดตั้งค่าเอง ให้คำนึง 3 ค่าหลัก ได้แก่ ISO, ความเร็วชัตเตอร์ (SS) และ WB (ประมาณ 3500K-4500K ขึ้นกับสภาพแสงของท้องฟ้าขณะนั้น)
  6. ใช้ขาตั้งกล้องในการถ่าย
  7. การกดชัตเตอร์ถ่ายภาพให้ใช้ระบบคำสั่งเสียง ระบบตั้งเวลา หรือรีโมทชัตเตอร์ (เซลฟี่) หลีกเหลี่ยงการแตะที่ตัวโทรศัพท์
  8. เลือกถ่ายภาพความละเอียดสูงสุด (ถ้าเป็นมืออาชีพจะเซฟเป็นไฟล์ RAW ด้วย)

ไม่มีกฏตายตัว
การถ่ายภาพดวงจันทร์และดวงดาวในยามค่ำคืนด้วย Smart Phone ไม่มีกฏตายตัว เพราะแสงของวัตถุที่ถ่ายในแต่ละครั้ง แต่ละเวลา แต่ละสถานที่ไม่เท่ากัน ขอให้ผู้ถ่ายยึดหลักการที่กล่าวมาไว้เป็นสำคัญ ลองผิดลองถูก ลองปรับค่าต่าง ๆ ถ่ายหลาย ๆ ภาพ แล้วมาเปรียบเทียบกัน จนกว่าจะได้ภาพที่เราพอใจที่สุด วิธีการปรับค่า ผมขอแนะนำให้เตรียมวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ ไม่อย่างนั้นเวลาถ่ายจะสับสน เช่น 1)ปรับโฟกัสให้เรียบร้อย 2)ตั้งค่า WB ไว้ที่ 4500K แล้ว
  • แผน A ตั้งค่า ISO เป็นหลัก แล้วปรับความเร็วชัตเตอร์ (SS) ตาม เช่น ตั้ง ISO400 เป็นหลัก แล้วถ่ายด้วย SS 1วินาที, 5วินาที, 10วินาที, 15วินาที เป็นต้น
  • แผน B ตั้งค่า ความเร็วชัตเตอร์เป็นหลัก (SS) และปรับ ISO ตาม เช่น ตั้ง SS20วินาที เป็นหลัก แล้วถ่ายด้วย ISO100, 200, 400, 800, 1600 เป็นต้น
หลักสำคัญ คือ ถ่ายภาพ ---> ดูภาพ --->วิเคราะห์ --->ปรับค่าใหม่ --->ถ่ายภาพ ---> ดูภาพ ทำแบบนี้ เป็นวงรอบไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ภาพที่เราพอใจและเห็นว่าดีที่สุด

ซ้อมถ่ายก่อนก็ดี
หากให้ดีลองซ้อมถ่ายค่ำวันที่ 23 มี.ค.2566 ก่อนก็ได้ ลองถ่ายดวงจันทร์เสี้ยวขึ้น 2 ค่ำ พร้อมกับดาวศุกร์ดู อย่าลืมว่าแสงดวงจันทร์ไม่มาก และไม่สว่างเหมือนจันทร์เต็มดวง ดังนั้นการปรับตั้งค่าต่าง ๆ จึงต้องลองปรับกันดู พอวันถ่ายจริงมีเวลาเพียง 5 นาที จะได้ตั้งค่าประมาณนี้ได้เลย อาจมีการปรับค่าใหม่ก็เพียงเล็กน้อย ซ้อมดีมีชัยไปกว่าครึ่งครับ

ภาพจำลองค่ำวันที่ 23 มี.ค.2566 เวลา 19:15 น. จาก Stellarium
"ดวงจันทร์ขึ้น 2 ค่ำ กับ ดาวศุกร์"

ปัจฉิมลิขิต 
อย่าพลาดชมนะครับ เพราะกว่าจะได้ชมอีกครั้ง อีก 3 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว (14 ก.ย.2569)


******************************
จัดทำโดย
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
23 มี.ค.2566



ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก