Translate

ดูดาวง่าย ๆ สำหรับผู้เริ่มต้น ด้วยกลุ่มดาวที่เป็น Landmark

การพยายามสร้างความรู้ทางดาราศาสตร์แก่บุคคลทั่วไปแบบง่าย ๆ เป็นพื้นฐานแรกที่สำคัญ ที่จะต่อยอดความสนใจของพวกเขาให้อยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ การสอนให้พวกเขาดูดาวเป็น โดยเริ่มต้นจากกลุ่มดาวที่เป็น Landmark ยอดนิยม

กลุ่มดาวนายพราน (Orion) Landmark ยอดนิยม
ที่มาของภาพ (Richard Jones Ponca City Astronomy. 2565)

เนื้อหา
  • ดูดาวได้
  • ถ่ายภาพเป็นด้วย Smart Phone
  • เริ่มต้นด้วยดวงจันทร์
  • ดาวเคราะห์ 3 ดวง
  • กลุ่มดาวที่เป็น LANDMARK
  • สามเหลี่ยมฤดูหนาว
  • หกเหลี่ยมฤดูหนาว
  • สรุปท้ายเรื่อง
ดูดาวได้ 
หลายคนอยากดูดาว แต่พอแหงนหน้าขึ้นมองฟ้าเห็นดวงดาวมากมาย แล้วรู้สึกท้อ เพราะดูไม่รู้เรื่องว่ามันคือ ดาวอะไรบ้าง ยิ่งชื่อดาวก็จำยากเป็นภาษาต่างประเทศทั้งนั้น ส่วนชื่อดาวภาษาไทยซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ก็มีไม่มากนัก เช่น ดาวไถ ดาวโจร ดาวจระเข้  ดาวลูกไก่ฯ  แต่ก็ไม่รู้อีกว่า "ดาวพวกนี้มันอยู่ตรงไหน"

บทความนี้จะชวนเริ่มต้นดูดาวแบบง่าย ๆ จากกลุ่มดาวที่เป็นจุดสังเกต (LandMark) ยอดนิยม ที่ใคร ๆ เงยหน้าขึ้นไปก็มองเห็น แล้วค่อย ๆ แกะรอยหาดาวดวงอื่น ๆ ต่อไป 

ถ่ายภาพเป็นด้วย Smart Phone
โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone) เป็นอุปกรณ์จำเป็นสำหรับคนในยุคสมัยนี้ จนถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เวลาไปเที่ยวในสถานใด จะต้องถ่ายภาพด้วย Smart Phone เป็นที่ระลึก และโพสต์ให้โลกรู้ ผ่านโซเซียลมีเดียต่าง ๆ เสมอ ดวงดาวก็เช่นกัน มันเป็นภาพของธรรมชาติที่สวยงามที่มีมานานแสนนาน หากทุกคน สามารถถ่ายภาพดวงดาวได้ นับว่าเป็นช่วงเวลาของชีวิตที่น่าจดจำอีกวาระหนึ่ง การสอนถ่ายภาพดาวด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ จึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่ควรจะสอนให้พวกเขาถ่ายเป็น 

ที่มาของภาพ (Pete Lawrence. 2562)

เริ่มต้นด้วยดวงจันทร์
ในแต่ละค่ำคืน แต่ละเดือน แสงของดวงจันทร์ก็จะเปลี่ยนไปตั้งแต่เต็มดวง จนถึงเดือนมืด มีข้างขึ้น ข้างแรม มีเวลาขึ้น-ตก แตกต่างกันไปในแต่ละวัน บางวันดวงจันทร์ก็ค้างฟ้า ซึ่งเรามักจะเห็นได้ตอนดวงอาทิตย์ขึ้นใหม่ ๆ  หรือก่อนที่ดวงอาทิตย์จะตกดิน และในบางครั้งดวงจันทร์ก็อาจโคจรผ่านดาวเคราะห์ หรือกลุ่มดาวต่าง ๆ  มีทั้งการรวมกลุ่ม การเดินขบวนพาเหรด การเคียงข้างกัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก  ดังนั้น สำหรับผู้เริ่มต้นดูดาว ข้อแรกที่ขอแนะนำคือ "การสังเกตดวงจันทร์"

การสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ท้องฟ้า และดิถีจันทร์ ในแต่ละเดือน ขอแนะนำให้ดูในเว็บไซต์ Myhora.com (คลิกชมรายละเอียด)
ปรากฏการณ์ท้องฟ้าและดิถีจันทร์ เดือนมีนาคม 2566
ที่มาของภาพ (Myhora. 2566)
ดาวเคราะห์ 3 ดวง
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราที่มองเห็นด้วยตาปล่าว คือ  ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี (ดาวพุธ และดาวเสาร์ เห็นบ้าง ไม่เห็นบ้าง แล้วแต่สภาพของท้องฟ้า ส่วนดาวเนปจูน และยูเรนัส ต้องมองผ่านกล้องดูดาว)  ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้ ก็จะโคจรเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ  เกิดเป็น การชุมนุมของดาวเคราะห์ (planetary grouping/conjunction) การเรียงตัวของดาวเคราะห์  (planetary alignment) หรือ ขบวนพาเหรดของดาวเคราะห์ (planetary parade) บางครั้งก็ไปประกอบกับตำแหน่งดวงจันทร์ ก็จะกลายเป็น "ดาวเคียงเดือน" เป็นต้น เรื่องราวการโคจรของดาวเคราะห์นี้ มีให้เราได้ฝึกสังเกตการณ์และถ่ายภาพได้ตลอดทั้งปี

การเรียงตัวหรือขบวนพาเหรด ของดาวเคราะห์ ซึ่งมีปรากฏการณ์ให้เห็นเสมอ
ที่มาของภาพ (SHAILAJA TRIPATHI. 2565)

กลุ่มดาวที่เป็น Landmark
กลุ่มดาวในท้องฟ้าที่มีการบันทึกไว้มีจำนวน 88 กลุ่ม กลุ่มดาวที่เป็น Landmark สำคัญกลุ่มแรกที่แนะนำให้เริ่มต้นดู คือ กลุ่มดาวนายพราน (Orion) สังเกตได้จากดาวเรียงตัวกัน 3 ดวงมองเห็นเด่นชัด (มักจะเรียกว่า เข็มขัดนายพราน) หากประกอบกับกลุ่มดาวรูปโค้ง ๆ ซึ่งคล้ายคันไถที่ใช้ไถนา คนไทยจีงเรียกชื่อว่า ดาวไถ 

กลุ่มดาวนายพราน (Orion Constellation)

กลุ่มดาวนายพรานเป็นกลุ่มดาวที่โดดเด่นที่สุดในท้องฟ้าเกือบทุกฤดู  กลุ่มดาวนี้ทำหน้าที่เป็นจุดสังเกตเริ่มต้น เพื่อแกะรอยกลุ่มดาวและวัตถุอื่น ๆ บนท้องฟ้าต่อไป

จากภาพด้านบน ดาวสีเหลืองทางซ้ายเข็มขัดนายพรานคือ ดาวเบเทลจูส (Betelgeuse)  และดาวด้านขวา คือ ดาวไรเจล (Rigel) 


หากลากเส้นตรงจากดาวไรเจล ผ่านเข็มขัดนายพราน ไปยังดาวเบเทลจูส ตรงไปเรื่อย ๆ  ก็จะพบกับ ดาวพอลลักซ์ (Pollux) 
อยู่ใน กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ในราศีเมถุน 

หากลากเส้นตรงตามดาวสามดวงของเข็มขัด ไปทางด้านหลังของนายพราน หรือด้านที่เป็นคันไถ ก็จะเจอดาวสว่างที่สุดของท้องฟ้าคือ  ดาวซิริอัส (Sirius) หรือคนไทยเรียกว่า ดาวโจร อยู่ใน กลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major)  


สามเหลี่ยมฤดูหนาว 
หากเราลองลากเส้นสมมุติระหว่าง ดาวซิริอุส และดาวเบเทลจูส แล้ว ลองหาดาวสว่างอีกดวงหนึ่ง ซึ่งเมื่อโยงเส้นเข้าด้วยกันแล้ว จะเกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ก็จะพบว่ามันคือ ดาวโพรซิออน (Procyon) อยู่ใน กลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minor) ซึ่งรูปสามเหลี่ยมที่เกิดขึ้นนี้ เรียกว่า สามเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Triangle)

หากลากเส้นตั้งฉากจากฐานของสามเหลี่ยมฤดูหนาวผ่านดาวเบเทลจูสขึ้นไป ก็จะพบดาวสว่างอีก 1 ดวง คือ ดาวอัลเดบารัน (Aldebaran) หรือ ดาวตาวัว อยู่ใน กลุ่มดาววัว (Taurus) ในราศีพฤษภ ซึ่งในกลุ่มดาวนี้ก็จะพบ กลุ่มดาวยอดนิยมอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มดาวลูกไก่ (Pleiades) หรืออีกชื่อคือ กลุ่มดาวกฤติกา

หกเหลี่ยมฤดูหนาว
หกเหลี่ยมฤดูหนาว ( Winter Hexagon) บางครั้งเรียกว่าวงกลมฤดูหนาว เกิดจากการลากเส้นสมมุติระหว่างดาว 6 ดวง คือ 1)ดาวซิริอุส 2)ดาวโพรซิออน 3)ดาวพอลลักซ์ 4)ดาวคาเพลลา 5)ดาวอัลเดบารัน และ 6)ดาวไรเจล

สามเหลี่ยมและหกเหลี่ยมฤดูหนาวนี้ จะเกิดในซีกโลกเหนือช่วงฤดูหนาว

เอาแค่กลุ่มดาวนายพราน นี้ ผู้เริ่มต้นใหม่ก็จะรู้จักดาวหลายดวงแล้วครับ เมื่อดูจนเข้าใจแล้ว ก็ค่อย ๆ แกะรอยไปยังดาวดวงอื่น ๆ ต่อไป

ดาวพฤหัสบดี กับ ดาวศุกร์ มาบรรจบกันเหนือท้องฟ้าประเทศเยอรมันนี
ที่มา : ภาพประจำวันที่ 15 มี.ค.2566 ของ NASA

สรุปท้ายเรื่อง
จากวิธีการดูดาวง่าย ๆ สำหรับผู้เริ่มต้นที่กล่าวมาข้างต้น  ทางชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี  จึงได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "ดูดาวและถ่ายภาพดาวด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ" ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง เน้นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Learning by doing) มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถ "ดูดาวได้ ถ่ายภาพเป็น" 

สนใจดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่ https://astronomyratchaburiclub.blogspot.com/p/blog-page_27.html

**********************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
17 มี.ค.2566



ที่มาข้อมูล
  • SHAILAJA TRIPATHI. (2565). Venus, Mars, Jupiter, Saturn to align in straight line after 1,000 years- Where and How to watch celestial event?. [Online]. Available : https://www.jagranjosh.com/current-affairs/venus-mars-jupiter-saturn-to-align-in-straight-line-after-1000-years-where-and-how-to-watch-celestial-event-1651053037-1. [2566 มีนาคม 16].
  • Myhora. (2566). ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (Sky Events). [Online]. Available : https://www.myhora.com/astronomy/sky-events.aspx. [2566 มีนาคม 16].
  • Richard Jones Ponca City Astronomy. (2565).  The Orion Constellation. [Online]. Available : https://www.poncacitynews.com/news/orion-constellation. [2566 มีนาคม 16].
  • Pete Lawrence. (2562). Photograph the night sky with your smartphone. [Online]. Available : https://www.skyatnightmagazine.com/astrophotography/astrophoto-tips/smartphone-astrophotography-use-your-phone-to-capture-the-night-sky/. [2566 มีนาคม 16].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก