ตำนานดวงอาทิตย์
ดวงอาทิตย์ (Sun) เป็นที่มาของวันอาทิตย์ (Sunday) เป็นดาวที่สำคัญที่สุดสำหรับโลก เพราะเป็นแหล่งพลังงานและแสงสว่างให้มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลก ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์ก็จะไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นบนโลกของเรา
ดวงอาทิตย์ ที่มาของภาพ (National Geographic Society.2565) |
ตำนานกรีก
เฟตอน (Phaeton) เป็นบุตรของ เฮลิออส (Helios) ซึ่งเป็น สุริยเทพ (เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์) เพื่อน ๆ ของเฟตอน ท้าว่า ถ้าเฟตอนเป็นบุตรของสุริยเทพจริง ก็พิสูจน์ให้พวกเราเห็นหน่อย
เฟตอนจึงเดินทางไปหา เฮลิออส กล่าวกับผู้เป็นพ่อว่า "ขอขับรถม้าของท่านพ่อ พาดวงอาทิตย์ขึ้นบนท้องฟ้า พวกเพื่อน ๆ จะได้เห็นว่าข้าฯ เป็นลูกของท่านพ่อจริง ๆ ขอแค่วันเดียวเท่านั้นเองนะ ท่านพ่อ"
เฮลิออส บอกกับลูกว่า เจ้าขออย่างอื่นเถิด ม้าทั้ง 4 ตัวนี้แข็งแรงและพยศมาก แม้แต่ มหาเทพซูส ยังไม่สามารถควบคุมได้ แต่ไม่ว่าเฮลิออสจะพยายามเกลี้ยกล่อมเฟตอนให้เปลี่ยนใจอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จึงจำใจต้องยอมให้เฟตอนขับรถม้า โดยเฮลิออสได้สอนวิธีการบังคับรถม้าให้
เมื่อเฟตอนได้ขึ้นบังคับรถม้าที่มีดวงอาทิตย์ เขาไม่สามารถควบคุมรถม้าได้ รถม้าได้ขึ้นสูงเกินไป ทำให้โลกหนาวเย็น แล้วรถม้าก็ลงมาต่ำเกินไป ทำให้โลกร้อนขึ้น จนบางส่วนของทวีปแอฟริกากลายเป็นทะเลทราย และคนแอฟริกาผิวไหม้กลายเป็นผิวดำ
มหาเทพซูส (Zeus) เห็นเหตุการณ์ เกรงว่าจะเกิดมหาภัยพิบัติแก่โลกมนุษย์ จึงขว้างสายฟ้ามาใส่เฟตอนเสียชีวิตร่วงหล่นตกลงมา ส่วนเฮลิออส ก็รีบเข้าไปควบคุมรถม้าพาดวงอาทิตย์ให้เคลื่อนที่กลับไปเป็นปกติ
ชาวกรีกโบราณได้สร้างรูปประติมากรรมสำริดขนาดใหญ่ของเทพเฮลิออสหรือสุริยเทพ ที่เมืองโรดส์ (ตั้งอยู่ที่ Mandraki Marina & Port ประเทศกรีซ) เรียกว่า “Colossus of Rhodes” เมื่อ 280 ปีก่อนคริสตกาล ความสูง 33 เมตร จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ แต่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อ 226 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้พังลงมา
ภาพจินตนาการ Colossus of Rhodes ที่มาของภาพ (George Pilarinos.2564) |
ตำนานอื่น ๆ
ตำนานพระอาทิตย์ตามคติความเชื่อ ลัทธิ หรือศาสนาต่าง ๆ ทั่วโลก ค่อนข้างสับสนปนเปกันไป แยกแยะไมได้ชัดเจน ลองมาดูตำนานพระอาทิตย์ของศาสนาที่ใกล้ ๆ ตัวเราดู ดังเช่น
ในศาสนาฮินดู พระอาทิตย์ เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง มีอำนาจเหนือกว่าเทวดานพเคราะห์ทั้งหลาย พระอาทิตย์ถูกสร้างขึ้นมา โดยพระศิวะ ท่านทรงนำไกรสรราชสีห์ 7 ตัว มาบดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีแดง ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสกเป็นพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์จึงเป็นเทพบุรุษ มีกายสีแดงดังดอกชบา รูปร่างเล็ก แต่กำยำล่ำสัน นัยน์ตาสีทองประกายแดง มี 4 มือ ทรงดอกบัว คทา จักร สังข์ ตรีศูล ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีแดงมี 7 แฉก สวมอาภรณ์สีทอง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและแก้วปัทมราช (ทับทิม) ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงราชรถสีแดงเทียมม้า 7 ตัว แทนวันทั้ง 7 มีพระอรุณเป็นสารถี พระอาทิตย์เป็นหนึ่งในสามเทพสูงสุด อันได้แก่
- พระอัคนี เทพแห่งไฟ
- พระอินทร์ เทพแห่งสายฟ้า
- พระอาทิตย์ เทพแห่งแสงสว่าง
พระอาทิตย์ ตามความเชื่อในศาสนาฮินดู ที่มาของภาพ (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 2564) |
- เส้นทางนอกสุด เรียกว่า โคณวิถี ก่อให้เกิดเหมันตฤดู (ฤดูหนาว)
- เส้นทางตรงกลาง เรียกว่า อัชวิถี ก่อให้เกิดคิมหันตฤดู (ฤดูร้อน)
- เส้นทางในสุด เรียกว่า นาควิถี ก่อให้เกิดวสันตฤดู (ฤดูฝน)
ที่มาของภาพ (โชติกา พิรักษา และ คณะ. 2560) |
นิทาน ตำนาน เรื่องเล่าขาน เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ หรือพระอาทิตย์ นี้ มีจำนวนมากมายที่มนุษย์ได้จินตนาการขึ้น ตามคติ ความเชื่อ ความศรัทธา ของแต่ละเผ่าพันธ์ แต่ละศาสนา แต่ละอารยะธรรม หากผู้อ่านต้องการศึกษาเพิ่มเติมต้องลองค้นหาอ่านกันดูเองนะครับ
**********************
เรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
24 ก.พ.2565
24 ก.พ.2565
ที่มาข้อมูลและภาพ
- พงศธร กิจเวช. (2564). ดวงอาทิตย์ ที่มาของวันอาทิตย์. สาระวิทย์. [Online]. Available : https://www.nstda.or.th/sci2pub/sun-and-sunday/. [2565 กุมภาพันธ์ 24].
- George Pilarinos. (2564). Colossus of Rhodes – Among The Wonders of the Ancient World. [Online]. Available : https://gretour.com/colossus-of-rhodes/. [2565 กุมภาพันธ์ 24].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2564). พระอาทิตย์. [Online]. Available : https://th.wikipedia.org/wiki/พระอาทิตย์#:~:text=พระอาทิตย์%20(เทวนาครี%3A%20सूर्य%20สูรฺ,ด้วยทองคำและแก้วปัทมราช(. [2565 กุมภาพันธ์ 21].
- National Geographic Society. (2565). Sun. [Online]. Available : https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/sun/. [2565 กุมภาพันธ์ 24].
- โชติกา พิรักษา และ คณะ. (2560). อ่านด่วน!!!รู้หรือไม่?เทวดาองค์ไหนคุ้มภัยคุณอยู่!!เผยวิธี “บูชาเทวดาประจำวันเกิด “เสริมสิริมงคลให้ตัวเอง พร้อมบทสวดก่อนนอน.[Online]. Available : https://www.tnews.co.th/social/393061. [2565 กุมภาพันธ์ 24].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น