มาเริ่มต้นดูดาวกันเถอะครับ ช่วยกันถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไป
ท้องฟ้ายามค่ำคืนประดับประดาไปด้วยความสวยงามของดวงดาวนับพัน นับหมื่นดวง แต่หลายคนกลับไม่กล้าที่จะแหงนหน้าขึ้นดู การดูดาวสมัยนี้ ไม่ใช่เรื่องยากเหมือนแต่ก่อน มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่สามารถทำให้การดูดาวของคุณ เพลิดเพลิน สนุกสนาน และได้ความรู้ที่ถูกต้องอีกด้วย
ปัจจุบัน การดูดาวดูที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ ที่ระเบียงบ้าน บนดาดฟ้าที่ทำงาน ในเมือง ในสวนสาธารณะ ในป่า ในเขา ฯลฯ ล้วนดูได้หมด แต่จะเห็นดวงดาวมากหรือน้อยแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ก่อนนอนคืนนี้ คุณลองแหงนหน้าขึ้นมองดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน สัก 10 นาที แล้วสร้างจินตนาการระบบสุริยะจักรวาลและเอเลี่ยนของคุณดู มันจะทำให้คุณนอนหลับฝันดีไปตลอดคืน
เหงยหน้าขึ้นมองดาว ที่มาของภาพ (Editors Living Magazines. 2562) |
สมัยตอนเด็ก ๆ ผมก็ได้รับการถ่ายทอดเรื่องการดูดาวมาจาก ปู่ย่า ตายาย และพ่อแม่ แต่ก็รู้จักดาวแค่เพียงไม่กี่ดวง เช่น ดาวไถ ดาวโจร ดาวลูกไก่ ดาวจระเข้ ดาวประจำเมือง ต่อมาพอเข้าเรียนเป็นทหารก็ได้ถ่ายทอดวิชาเพิ่มเติมอีกไม่มากนัก เช่น ความสัมพันธ์ของการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์กับแสงที่ใช้ในทางทหาร การหาทิศทางโดยการสังเกตดาวเหนือและเสี้ยวของดวงจันทร์ ก็เห็นจะมีแค่นี้ หลังจากนั้นมาก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมจากท้องฟ้าในยามค่ำคืนอีกเลย
การดูดาวอาจจะเป็นความชอบส่วนตัว เกิดจากแรงบันดาลใจของแต่ละคน ในปัจจุบัน การดูดาว ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Astronomical Tourism) มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ชอบดูดาวและถ่ายภาพดาว สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีที่ตั้งเหมาะสมสำหรับการดูดาว เพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีสถานที่ดูดาวยอดนิยมจำนวนมากที่นักท่องเที่ยวมักชอบไปนอนพักค้างแรม สัมผัสอากาศหนาว นอนชมดาว และสายหมอก ลองสำรวจดูรายละเอียดได้ตามลิงค์ด้านล่างนะครับ
- ดวงตาของคุณคือกล้องส่องทางไกล วิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นดูดาว คือ ไปที่สนามหน้าบ้าน เริ่มสังเกตดวงดาวต่าง ๆ ด้วยตาของคุณเอง พยายามทำความรู้จัก ชื่อดาวที่สว่างมาก ๆ มองเห็นได้ง่ายก่อน เช่น ดาวโจร ดาวไถ ดาวประจำเมือง เป็นต้น อาจจะซื้อแผนที่ดาวมาศึกษาประกอบก็ได้ พยายามทำความเข้าใจทิศพื้นฐาน ได้แก่ ทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ให้หมั่นสังเกตและซึมซับกับความงดงามของดวงดาวและท้องฟ้ายามค่ำคืนอยู่เสมอ เอาคืนละ 10 นาที ก่อนนอนก็ได้
- เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านเทคโนโลยี การดูดาวไม่จำเป็นต้องมีกล้องโทรทรรศน์ หรืออุปกรณ์ที่หรูหราราคาแพง หัวใจสำคัญคือ ความหลงใหล ความอยากรู้ และทักษะของคุณ ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้การบริการด้านดาราศาสตร์ให้เรียนรู้ด้วยตนเองมากมาย ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ มีแอปพลิเคชัน ที่จะนำพาคุณให้เข้าใจพื้นฐานทางดาราศาสตร์ สามารถนำชมดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ เนบิวลา กาแล็กซี่ ทางช้างเผือก และกลุ่มดาวต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ และสามารถเรียนรู้การดูดาวได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน เทคโนโลยีที่แนะนำ คือ โปรแกรม Stellarium บน PC และ App สายตระกูล Star Walk บนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
- เชื่อมต่อกับผู้ที่มีใจเดียวกัน ปัจจุบัน มีกลุ่ม ชมรม สมาคมเกี่ยวกับการดูดาว การถ่ายภาพดาว หรือความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์มากมาย ซึ่งคุณควรจะเข้าร่วม จะได้เรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์จากพวกเขา และคุณยังสามารถถามคำถามที่คุณสงสัยได้อีกด้วย กลุ่มสาธารณะที่อยู่บน Facebook ในประเทศไทยที่ขอแนะนำ เช่น Starry Night Lover Club : ชมรมคนรักในดวงดาว, Star Hunters Club : ชมรมพรานดารา , The Thai Astronomical Society (TAS-สมาคมดาราศาสตร์ไทย), ล่าดาวด้วยมือถือ, ทีมล่าทางช้างเผือก ,Thai Astronomy, คนดูดาว กล้องดูดาว , รวมข้อมูลการถ่ายภาพทางช้างเผือก เป็นต้น
- การเข้าอบรมโครงการทางดาราศาสตร์ หากคุณพอที่จะมีเวลาและรักการเรียนรู้ คุณควรที่จะสมัครเข้าอบรมโครงการดาราศาสตร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงระดับสูง ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถขยายขอบเขตความรู้ของคุณได้อย่างกว้างขวางขึ้น สำหรับในประเทศไทย ต้องลองติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สมาคมดาราศาสตร์ไทย (สดท.) , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นต้น (แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีโครงการสำหรับประชาชนทั่วไป มีแต่สำหรับนักเรียน นักศึกษา และครู อาจารย์ เป็นส่วนใหญ่)
- ร่วมกิจกรรมตั้งแคมป์การดูดาว ปัจจุบันมี บริษัทนำเที่ยวหลายแห่งพยายามจัดกิจกรรมการตั้งแคมป์ดูดาวและถ่ายภาพดาวตอนกลางคืน เพื่อให้การดูดาวมีความเพลิดเพลิน สุนกสนาน ได้ภาพถ่ายสวย ๆ และได้ความรู้ที่ถูกต้องไปด้วย โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพมาเป็นวิทยากร พร้อมกล้องโทรทรรศน์ชั้นเยี่ยมสำหรับส่องดูดาว หากคุณมีโอกาสเข้าร่วม นอกจากคุณจะได้ท่องเที่ยวพักผ่อนกับธรรมชาติแล้ว คุณยังจะได้รับประสบการณ์และเสริมเติมความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ของคุณให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
- อุปกรณ์ชิ้นแรกของคุณ หากคุณดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องแล้ว มาถึงตอนนี้ คุณต้องตั้งสติและทบทวนตัวเองว่าจะไปต่อหรือไม่ หากคุณยังคงหลงใหลการดูดาวอยู่มากพอ ลองลงทุนซื้อ "กล้องถ่ายรูป หรือ โทรศัพท์มือถือดี ๆ พร้อมขาตั้งกล้อง" สัก 1 ชุด เอาไว้ถ่ายรูปดาวและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดบนท้องฟ้า เพื่อให้ภาพถ่ายเป็นตัวแทนที่บันทึกความทรงจำของคุณ และยังสามารถแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นได้ด้วย ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อกล้องโทรทรรศน์ราคาแพง เพราะช่วงเวลานี้ มันอาจยังไม่มีความจำเป็นสำหรับคุณ
- บันทึกเรื่องราวในไดอารี่ดาราศาสตร์ของคุณ คุณควรที่จะเขียนไดอารี่ดาราศาสตร์ ในทุก ๆ ครั้งที่คุณทำกิจกรรม เพื่อเป็นการบันทึกความรู้ที่คุณได้รับ ตั้งแต่สถานที่ การบันทึกภาพ การใช้กล้องดูดาว สภาพอากาศ สภาพท้องฟ้า ภาพถ่ายดวงดาว หรือปรากฏการณ์ที่คุณเห็น รายชื่อเพื่อน ๆ ของคุณที่ร่วมกิจกรรม รวมทั้งปัญหาอุปสรรคและข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น และเมื่อวันเวลาผ่านไป แล้วคุณหยิบมันขึ้นมาอ่านอีกครั้ง มันจะทำให้คุณมีความรู้สึกที่ดีมาก ๆ และหากมีกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ก็จะทำให้คุณสามารถเตรียมการเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องในครั้งต่อไปได้ การบันทึกนี้ คุณอาจทำในโลกออนไลน์ก็ได้ เช่น ในโซเซียลมีเดีย แอฟพลิเคชั่น หรือเว็บบล็อกต่าง ๆ ที่มีให้เลือกใช้มากมาย
- อย่าสูญเสียความตั้งใจ จงสนุกและสำรวจต่อไป ดาราศาสตร์และการดูดาวสอนให้คุณรู้จักความอดทนและการรอคอย คุณไม่สามารถคาดหวังให้ทุกอย่างราบรื่นได้ตลอด การผจญภัยทางดาราศาสตร์ของคุณ ยังคงต้องดำเนินต่อไป ด้วยความสนุก เพลิดเพลิน และไร้กังวล หัวใจที่สำคัญคือ ความสุขที่คุณได้รับจากการเรียนรู้ การชื่นชมความงาม และความลึกลับของจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลที่มองเห็นอยู่ข้างหน้าเรานี้ แล้วมันคืออะไร มันลอยอยู่ในภาชนะทรงกลมใด มีขอบเขตแค่ไหน แล้วมันมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เหมือนเราอยู่ข้างนอกบ้างไหม
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
25 ก.พ.2565
- Jack Kerouac. (2559). A BEGINNERS’ GUIDE TO STAR GAZING. [Online]. Available : https://starregistration.net/blog/A-Beginners-Guide-to-star-Gazing/. [2565 กุมภาพันธ์ 20].
- Editors Living Magazines. (2562). Look Up To The Stars. [Online]. Available : https://livingmags.co.uk/look-up-to-the-stars/. [2565 กุมภาพันธ์ 20].
- Dr Alastair Gunn. (2565). When I look to the stars, how far back am I seeing?. [Online]. Available : https://www.sciencefocus.com/space/when-i-look-to-the-stars-how-far-back-am-i-seeing/. [2565 กุมภาพันธ์ 20].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น