Translate

ดูดาวเป็นแล้วหัด "ดูเมฆ" อีกสักหน่อย จะเป็นอะไรไป

ในส่วนลึกแล้ว "ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูเมฆ" โดยเฉพาะเวลาออกทริปดำน้ำในทะเลหลาย ๆ วัน ที่ต้องกินนอนอยู่บนเรือ แล้วได้นั่งมองท้องฟ้าที่มีเมฆรูปทรงต่าง ๆ ตัดกับท้องทะเลสีคราม ยิ่งก่อนที่ดวงอาทิตย์ใกล้จะตกทะเล เมฆก็จะเปลี่ยนรูปร่างและสีสันตัดกับแสงเงินแสงทองของยามสนธยา มันเป็นภาพที่สวยงามจริง ๆ ครับ  และในยามค่ำคืนขณะที่ลอยเรืออยู่กลางทะเล บนท้องฟ้ายังมองเห็นดวงดาวต่าง ๆ ชัดเจนมาก เพราะไม่มีมลภาวะทางแสง ท้องฟ้าแทบมืดสนิท  เสียดายตอนนั้น "ผมยังดูดาว และดูเมฆไม่เป็น" 

ภาพดวงอาทิตย์ก่อนตกทะเล ถ่ายจากบนเรือขณะไปทริปดำน้ำ

การดูเมฆ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ กล่าวว่า "ตอนกลางวันเมฆอยู่กับเราแทบตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน จะเป็นคนในเมืองหรือชนบท หรือระหว่างการเดินทาง แค่แหงนหน้ามองท้องฟ้าเมื่อไหร่ ก็มีสิทธิที่จะเห็นเมฆ หรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเมฆได้ตลอดเวลา" 

หากอยากดูอะไรที่เพลิดเพลิน ดูแล้วสบายใจก็คือ "การดูเมฆ"  นั่นเอง

การดูดาวกับการดูเมฆ น่าจะไปด้วยกันได้
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวไว้ว่า ตัวท่านเป็นนักดาราศาสตร์ ซึ่งท่านไม่น่าจะชอบเมฆ เพราะอยากให้มันลอยไปเสียทีจะได้ดูดาว  แต่ในส่วนลึกแล้ว ท่านเป็นคนชอบดูเมฆ "ถ้าคุณอยากดูดาว คุณต้องดูเมฆเป็น" เพราะฉะนั้นคนที่เรียนดาราศาสตร์ควรต้องรู้อุตุนิยมวิทยาด้วย ท้องฟ้าตอนกลางคืนมีความสัมพันธ์กับตอนกลางวัน เพราะเรื่องทางอุตุนิยมวิทยาส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำกิจกรรมทางดาราศาสตร์  (ชนากานต์ ปานอ่ำ. 2560)

หากคุณชอบดูดาว ดูทางช้างเผือก ดูปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ บนท้องฟ้ายามค่ำคืน แล้วชอบเก็บภาพถ่ายสวย ๆ มาแบ่งปันกัน  แล้วหากคุณจะดูเมฆเป็นอีกสักอย่างจะเป็นอะไรไป เหตุผลที่ทำให้การดูเมฆน่าหลงใหล เพราะ
  1. เมฆไม่ได้เป็นแค่เรื่องฟ้าหรือฝน เมฆทำให้เราเกิดจินตนาการเป็นรูปร่างต่าง ๆ บางครั้งเมฆก็มีสีสันที่สวยงาม  จนอดไม่ได้ที่จะหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
  2. เมฆสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนมากผลิตงานศิลปะไว้มากมาย และเมฆมีความผูกพันกับชีวิตเราในหลายด้าน ตลอดจนคติความเชื่อต่าง ๆ ที่สั่งสมกันมา
  3. ท้องฟ้าที่แต้มแต่งด้วยมวลเมฆ เปรียบเสมือนแกลเลอรีภาพศิลปะตระการตาขนาดใหญ่ที่จัดแสดงให้เราได้ชมทุกวัน โดยแต่ละภาพ แทบไม่ซ้ำกันเลยสักครั้งเดียว
  4. ไหน ๆ คุณต้องเดินทางรอนแรมไปยังสถานที่ต่าง ๆ แล้วรอถ่ายภาพดวงดาวตั้งแต่ก่อนเย็นค่ำจนถึงรุ่งสางแล้ว ทำไม? ไม่ถือโอกาสถ่ายภาพมวลเมฆยามกลางวันมาฝากเพื่อน ๆ กันบ้างเล่า
ดูดาวเป็น แล้วดูเมฆเป็นด้วย จะทำให้คุณแลดูมีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น  สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดทั้งกลางวันและกลางคืน

ไม่กล้าดูเมฆ 
นักดูเมฆ (cloudspotter) หมายถึง คนที่ชอบมองเมฆและท้องฟ้ามาก ๆ ถึงขนาดชี้ชวนให้คนใกล้ตัวดูด้วยบ่อย ๆ และไม่ว่าจะไปไหนก็ชอบถ่ายภาพเมฆไว้เสมอ คนนั้นสามารถเข้าข่ายที่เรียกได้ว่าเป็น "คนรักเมฆ" ซึ่งต่างกับคำว่า การดูเมฆ (cloudspotting) ส่วนผมยังไม่เป็นทั้งสองอย่าง เพราะรู้สึกว่าการดูเมฆเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ยากกว่าการดูดาว  การดูดาวยังสามารถคำนวณตำแหน่งแห่งที่ต่าง ๆ  ได้ แต่เจ้าเมฆนั้นมันรวมตัวกันเป็นรูปร่างหน้าตาลักษณะต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา สามารถจินตนาการเป็นสิงสาราสัตว์ได้มากยิ่งกว่ากลุ่มดาวเสียอีก  แต่รวมตัวกันอยู่แค่เดี๋ยวเดียวก็ลอยละล่องแปรเปลี่ยนลักษณะไป ไม่จีรังยั่งยืน เมฆก้อนเดียวกัน หากอยู่คนละตำแหน่ง คนละมุม ก็ยังมองเห็นไม่เหมือนกัน

อีกทั้งชื่อของเมฆแต่ละชนิดนั้น จำยากมาก และยังยากที่จะตีความว่าเป็นเมฆอะไร  ด้วยเหตุนี้กระมัง คนส่วนใหญ่จึงดูเมฆเพื่อความสวยมากกว่าที่จะศึกษาเมฆ ทั้ง ๆ ที่เมฆมีเรื่องน่าชวนพิศวงพอ ๆ กับดวงดาวเช่นกัน มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้าของเราอีกประเภทหนึ่งที่มีความสวยงามมาก เรามองเห็นได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เวลาถ่ายรูปวิวทิวทัศน์สวย ๆ ก็มักจะมีเจ้าเมฆเหล่านี้ปรากฏเป็นองค์ประกอบของภาพอยู่เสมอ

ทำอย่างไร จะดูเมฆให้เข้าใจ
มีคนแนะนำว่าวิธีจำเมฆ ให้จำเป็น 3 ลักษณะหลัก คือ เมฆก้อน (คิวมูลัส : Cumulus) เมฆแผ่น (สตราตัส : Stratus) และเมฆฝอยหรือเมฆขนนก (ซีร์รัส : Cirrus) (และเมื่อมีคำว่า นิมโบหรือนิมบัสผสมอยู่ในชื่อเมฆด้วย แสดงว่าเมฆชนิดนั้นจะก่อตัวกลายเป็นเมฆฝน) และหากแบ่งตามระดับความสูงให้นึกถึงหมูสามชั้น  คือ เมฆชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูง

ที่มาของภาพ (LESA. 2555)

เมฆชั้นต่ำ (Strato) อยู่สูงจากพื้นดินไม่เกิน  2 กิโลเมตร ได้แก่ 
  • เมฆสตราตัส (เมฆแผ่น) เป็นเมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ ลอยแนวนอนระดับพื้นดินคล้ายหมอก แต่ไม่ติดพื้น
เมฆสตราตัส (เมฆแผ่น)
ที่มาของภาพ (Met Office. 2565)
  • เมฆนิมโบสตราตัส (เมฆแผ่นที่กลายเป็นเมฆฝน) ลักษณะเป็นแผ่นสีเทา ตัวเมฆอยู่ชั้นกลางแต่ฐานอยู่ชั้นต่ำ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง
เมฆนิมโบสตราตัส (เมฆแผ่นที่กลายเป็นเมฆฝน)
ที่มาของภาพ (Met Office. 2565)
  • เมฆคิวมูลัส (เมฆก้อน) เป็นเมฆมีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว ก่อตัวในแนวตั้ง อาจมีขนาดเล็ก ถึงขนาดใหญ่ หากเป็นขนาดใหญ่อาจมีมียอดเมฆสูงถึงเมฆชั้นกลาง
เมฆคิวมูลัส (เมฆก้อน)
ที่มาของภาพ (Partita. 2560)
  • เมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆก้อนที่รวมตัวกลายเป็นเมฆฝน)
เมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆก้อนที่รวมตัวกลายเป็นเมฆฝน)
ที่มาของภาพ (Partita. 2560)
  • เมฆสตราโตคิวมูลัส (เมฆแผ่นและเมฆก้อนลอยมาชิดติดกันเป็นก้อนใหญ่) เป็นก้อนเมฆย่อยสีเทาหรือขาว มักอยู่ติดกันเป็นแพ มักพบในวันที่มีเมฆมาก
เมฆสตราโตคิวมูลัส (เมฆแผ่นรวมกับเมฆก้อน)
ที่มาของภาพ (Partita. 2560)


เมฆชั้นกลาง (Alto) อยู่สูงจากพื้นดิน  2-6 กิโลเมตร ได้แก่
  • เมฆอัลโตสตราตัส (เมฆแผ่น) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา และปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ปกติจะมีสีเทาเพราะบดบังแสงอาทิตย์
เมฆอัลโตสตราตัส (เมฆแผ่น)
ที่มาของภาพ Weebly. (2565)
  • เมฆนิมโบสตราตัส (เมฆแผ่นที่กลายเป็นเมฆฝน)
  • เมฆอัลโตคิวมูลัส (เมฆก้อน) เป็นเมฆก้อนสีเทาหรือขาว เมื่ออยู่รวมกันดูคล้ายฝูงแกะ เป็นลอนคลื่น หรือติดกันเป็นแผ่นหนา 
เมฆอัลโตคิวมูลัส (เมฆก้อน)
ที่มาของภาพ (Met Office. 2565)

เมฆชั้นสูง (Cirro) อยู่สูงจากพื้นดินมากกว่า 6 กิโลเมตร ได้แก่
  • เมฆเซอโรสตราตัส (เมฆแผ่น)  เป็นเมฆแผ่นสีขาว ปกคลุมท้องฟ้า ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด
เมฆเซอโรสตราตัส (เมฆแผ่นที่ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด)
ที่มาของภาพ (whatsthiscloud. 2565)
  • เมฆเซอโรคิวมูลัส (เมฆก้อน)  เป็นเมฆสีขาว จับตัวเป็นก้อน มองดูคล้ายลักษณะลอนคลื่น หรือบางครั้งเป็นริ้ว
เมฆเซอโรคิวมูลัส (เมฆก้อน)
ที่มาของภาพ (Met Office. 2565)

  • เมฆซีร์รัส (เมฆฝอยหรือเมฆขนนก)  มีลักษณะเป็นปุยสีขาว หรือเป็นเส้นคล้ายขนนก
เมฆซีร์รัส (เมฆฝอยหรือเมฆขนนก)
ที่มาของภาพ (Met Office. 2565)
  • เมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆก้อนที่กลายเป็นฝน) เป็นก้อนเมฆขนาดใหญ่มาก มีความสัมพันธ์กับพายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และสภาพอากาศรุนแรง
เมฆคิวมูโลนิมบัส (เมฆก้อนที่กลายเป็นฝน)
ที่มาของภาพ (NASA. 2565)

ทำไปทำมา ผมเองยังรู้สึกมึนงง กับชนิดและประเภทของเมฆที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นเลยครับ คงต้องใช้เวลาฝึกดู ฝึกสังเกตกันอีกนาน แต่ถ้าจะถ่ายรูป หยิบกล้องขึ้นมาถ่ายได้เลยครับ ไม่ต้องรอ....

ที่มาของภาพ (wsavleehaywood. 2559)

ดูดาวเป็นแล้วหัด "ดูเมฆ" อีกสักหน่อย จะเป็นอะไรไป  ลองดูซักตั้ง..!!

*******************
รวมรวบและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
21 มี.ค.2565

ที่มาข้อมูลและภาพ
  • Partita. (2560). มารู้จัก "เมฆ" ชนิดต่าง ๆ แบบเข้าใจ ไม่ต้องจำชื่อ. [Online]. Available : https://pantip.com/topic/36203570. [2565 มีนาคม 17].
  • ชนากานต์ ปานอ่ำ. (2560). ไขปริศนา ‘ดูเมฆ’ แล้วได้อะไร? ฉบับ ‘ชมรมคนรักมวลเมฆ’. [Online]. Available : https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_614933. [2565 มีนาคม 21].
  • บัญชา ธนบุญสมบัติ. (2554). รื่นรมย์ชมเมฆ ความสุขจากฟากฟ้า…ที่ใครก็สัมผัสได้. [Online]. Available : https://www.sarakadee.com/2011/08/17/ชมเมฆ/. [2565 มีนาคม 21].
  • NGthai. (2560). ทำความรู้จักกับ “เมฆ” แต่ละประเภท. [Online]. Available : https://ngthai.com/science/2949/type-of-clouds/. [2565 มีนาคม 21].
  • LESA. (2555). เมฆ. [Online]. Available : http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/cloud. [2565 มีนาคม 21].
  • Met Office. (2565). Altocumulus clouds. [Online]. Available : https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/mid-level-clouds/altocumulus. [2565 มีนาคม 21].
  • Met Office. (2565). Cirrus clouds. [Online]. Available : https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/high-clouds/cirrus. [2565 มีนาคม 21].
  • Met Office. (2565). Cirrocumulus clouds. [Online]. Available : https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/high-clouds/cirrocumulus. [2565 มีนาคม 21].
  • Met Office. (2565). Stratus clouds. [Online]. Available : https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/low-level-clouds/stratus. [2565 มีนาคม 21].
  • Met Office. (2565). Nimbostratus clouds. [Online]. Available : https://www.metoffice.gov.uk/weather/learn-about/weather/types-of-weather/clouds/mid-level-clouds/nimbostratus. [2565 มีนาคม 21].
  • NASA. (2565). Cumulonimbus cloud over Africa. [Online]. Available : https://climate.nasa.gov/climate_resources/124/cumulonimbus-cloud-over-africa/. [2565 มีนาคม 21].
  • whatsthiscloud. (2565). Cirrostratus Clouds: Pale, Veil-like Layer. [Online]. Available : https://whatsthiscloud.com/cloud-types/cirrostratus/. [2565 มีนาคม 21].
  • Weebly. (2565). ALTOSTRATUS CLOUDS. [Online]. Available : https://ilove-clouds.weebly.com/altostratus-clouds.html. [2565 มีนาคม 21].
  • wsavleehaywood. (2559). The Ten Main Types of Clouds. [Online]. Available : https://www.wsav.com/news/the-ten-main-types-of-clouds/. [2565 มีนาคม 27].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก