Translate

13 มีนา "วันท้องฟ้าจำลองสากล" แล้วประเทศไทยมีท้องฟ้าจำลองที่ไหนให้ดูกันบ้าง?

ท้องฟ้าจำลอง ช่วยสร้างเรื่องราวของดาราศาสตร์ ให้เป็นที่สนุกสนาน และน่าหลงไหล ปัจจุบันมีสถานที่สำหรับแสดงท้องฟ้าจำลองมากกว่า 3,500 แห่งทั่วโลกที่เปิดให้บริการอยู่

ที่มาของภาพ (Vito Technology, Inc. 2565)

วันท้องฟ้าจำลองสากล (International Day of Planetariums) เป็นวันหยุดที่จัดขึ้นทุกปีในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนมีนาคม ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันนี้ (13 มี.ค.2565) เป็นการเฉลิมฉลองความสำคัญของท้องฟ้าจำลองในฐานะเป็นเครื่องมือทางการศึกษาที่ช่วยให้มนุษย์ได้ชื่นชมความยิ่งใหญ่ และความงามของจักรวาล เป้าหมายหลักของการจัดงาน คือ
  1. เป็นการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบเกี่ยวกับบทบาทสำคัญของท้องฟ้าจำลอง ที่เกี่ยวโยงผูกพันกับ ประเพณี วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และการศึกษา
  2. ท้องฟ้าจำลอง ช่วยสร้างเรื่องราวของดาราศาสตร์ ให้เป็นที่สนุกสนาน และน่าหลงไหล แก่ผู้คนที่สนใจ
  3. เป็นการส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างสถานที่จัดแสดงท้องฟ้าจำลองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ.2534 สมาคมท้องฟ้าจำลองแห่งอิตาลี เป็นองค์กรแรกที่เริ่มจัดงานวันท้องฟ้าจำลอง (Day of Planetariums) ในประเทศอิตาลี และในเวลาต่อมา สมาคมท้องฟ้าจำลองนานาชาติ (International Planetarium Society : IPS) ก็สนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ และในปี พ.ศ.2538 วันท้องฟ้าจำลองก็ได้ถูกจัดขึ้นทั่วโลกเป็นครั้งแรก สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้

วันท้องฟ้าจำลองสากล กำลังจะมีแผนเปลี่ยนจากวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของท้องฟ้าจำลอง ก็คือ การเริ่มดำเนินการของโปรเจคเตอร์ท้องฟ้าจำลอง Zeiss เป็นครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ของเยอรมันในเมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2468

โปรเจคเตอร์ท้องฟ้าจำลอง Zeiss
เครื่องแรกของโลก
ผลิตโดย Carl Zeiss Company
ที่มาของภาพ (Wikipedia,the free encyclopedia. 2564)

ปัจจุบันมีสถานที่แสดงท้องฟ้าจำลองทั่วโลกมากกว่า 3,500 แห่ง สำหรับประเทศไทย มีท้องฟ้าจำลองที่เปิดให้บริการอยู่จำนวน 17 แห่ง ดังนี้ (ข้อมูลจาก IPS ณ 13 มี.ค.2565) 

  1. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ , กรุงเทพมหานคร
  2. ท้องฟ้าจำลอง โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร 
  3. ท้องฟ้าจำลอง อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ 
  4. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง จ.ขอนแก่น
  5. ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.นครราชสีมา
  6. ศูนย์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์(ท้องฟ้าจำลอง) จ.นครราชสีมา
  7. ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ฉะเชิงเทรา
  8. ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จ.สงขลา
  9. ท้องฟ้าจำลอง องค์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ.ปทุมธานี 
  10. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ท้องฟ้าจำลอง  จ.ปทุมธานี
  11. ท้องฟ้าจำลอง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  12. ศูนย์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  จ.นครปฐม
  13. ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด จ. ร้อยเอ็ด
  14. โรงเรียนนานาชาติ Berda Claude International School (BCIS) จ.ภูเก็ต
  15. ศูนย์ดาราศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง อ.บ้านหมอ จ. สระบุรี
  16. สวนวิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง สวนนกชัยนาท จ.ชัยนาท
  17. ท้องฟ้าจำลอง ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ จ.นครสวรรค์
ท่านใดสนใจจะไปพาครอบครัวบุตรหลาน ไปเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลอง คลิกรายละเอียดที่แต่ละสถานที่ที่ลิงค์ไว้ให้แล้วได้เลย อย่าปล่อยให้เขาต้องตั้งอยู่อย่างเดียวดาย ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่นเลยครับ 

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ
ที่มาของภาพ (Peeranut P. 2563)

********************
รวมรวบและเรียบเรียงโดย
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี
13 มี.ค.2565


ที่มาข้อมูลและภาพ
  • IPS. (2565). INTERNATIONAL DAY OF PLANETARIUMS. [Online]. Available : https://www.ips-planetarium.org/page/IDP. [2565 มีนาคม 13].
  • Wikipedia,the free encyclopedia. (2564). Zeiss projector. [Online]. Available : https://en.wikipedia.org/wiki/Zeiss_projector. [2565 มีนาคม 13].
  • Vito Technology, Inc. (2565). Why Are Planetariums Important Today?. [Online]. https://starwalk.space/en/news/the-international-day-of-planetariums-2021-is-coming. [2565 มีนาคม 13].
  • Peeranut P. (2563). ท้องฟ้าจำลองเตรียมกลับมาเปิดอีกครั้ง นั่งดูดาวแบบ New Normal.  [Online]. https://www.sanook.com/travel/1421701/. [2565 มีนาคม 13].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก