Translate

มือใหม่ "ฝึกดูดาวฤกษ์สว่างที่สุด 10 ดวง"

สำหรับมือใหม่หัดดูดาวอย่างผม พอแหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า ก็เห็นดาวละลานตาไปหมด ยากที่จะจำแนกแยกแยะได้ว่ามันคือ ดาวชื่ออะไรบ้าง  ผมเลยตัดสินใจค่อย ๆ  เริ่มต้นทีละขั้น โดยลองฝึกดูดาวที่เห็นง่าย ๆ ก็คือ ดาวฤกษ์บนท้องฟ้าที่สว่างมาก ๆ เสียก่อน โดยตั้งใจฝึกอยู่ที่สนามหน้าบ้านของผมเอง ถึงแม้บ้านผมจะอยู่ในเมืองที่มีแสงรบกวนมาก แต่ก็เชื่อว่าน่าจะพอมองเห็นอยู่บ้าง สำหรับดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า 10 อันดับแรกมีดังนี้  (ตัวเลขอันดับความสว่างน้อยยิ่งสว่างมาก) 

(ที่มาของภาพ Ken Crawford.2022)

  • อันดับ 1  ดาวซิริอุส (Sirius) หรือ ดาวโจร อันดับความสว่าง -1.44  อยู่ในกลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major)
  • อันดับ 2  ดาวคาโนปัส (Canopus) อันดับความสว่าง -0.62  อยู่ในกลุ่มดาวกระดูกงูเรือ (Carina)
  • อันดับ 3 ดาวดวงแก้ว (Arcturus) อันดับความสว่าง -0.05 อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes)
  • อันดับ 4 ดาวไรจิลเคนทอรัส (Rigil Kentaurus) อันดับความสว่าง -0.01 อยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) 
  • อันดับ 5 ดาวเวกา (Vega) อันดับความสว่าง 0.03 อยู่ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra)
  • อันดับ 6 ดาวคาเพลลา (Capella) อันดับความสว่าง 0.08 อยู่ในกลุ่มดาวสารถี (Auriga)
  • อันดับ 7 ดาวไรเจล (Rigel) อันดับความสว่าง 0.18 อยู่ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion)
  • อันดับ 8 โพรซิออน ( Procyon) อันดับความสว่าง 0.40 อยู่ในกลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minor)
  • อันดับ 9 อะเคอร์นาร์ (Achernar)  อันดับความสว่าง 0.45 อยู่ในกลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) 
  • อันดับ 10 เบเทลจุส (Betelgeuse) อันดับความสว่าง 0.45 อยู่ในกลุ่มดาวนายพราน (Orion)
ค้นหาจากตำแหน่งดาวฤกษ์จากโปรแกรมสำเร็จก่อน
ขั้นแรกผมเริ่มต้นจำลองหาตำแหน่งดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดทั้ง 10 ดวงจากโปรแกรม Stellarium เสียก่อน (โปรแกรมฯ สามารถจำลองเวลาย้อนหลังหรือไปในอนาคตได้)  โดยครั้งนี้ผมจำลองการดูดาวในคืนวันที่ 2-3 มี.ค.2565 ตั้งค่าตำแหน่งในการสังเกตอยู่ที่ จ.ราชบุรี 

ในการจำลองจากโปรแกรม พบว่า  ในวันที่ 2 มี.ค.2565 เวลา 20.00 น. หากเราหันหน้าไปทางซีกฟ้าใต้ เราจะสามารถเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดพร้อม ๆ กันถึง 5 ดวง ได้แก่ ดาวซิริอุส (อันดับ 1) ดาวคาโบนัส (อันดับ 2) ดาวไรเจล (อันดับ 7) ดาวโพซิออน (อันดับ 8) และดาวเบเทลจุส (อันดับ 10) ตามภาพด้านล่างครับ 

ซีกโลกใต้ในวันที่ 2 มี.ค.2565 เวลา 20.00 น. ณ จุดสังเกต จ.ราชบุรี
จะเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างมากง่ายต่อการสังเกตถึง 5 ดวง

หลังจากนั้นก็ลองแสดงเส้นกลุ่มดาวและภาพกลุ่มดาวในโปรแกรมดู ก็จะเห็นว่าดาวฤกษ์ทั้ง 5 ดวงนั้นอยู่ตรงส่วนไหนของกลุ่มดาวอะไรบ้าง ดังภาพด้านล่าง

ภาพดาวฤกษ์ทั้ง 5 ดวงในแต่ละกลุ่มดาว

ดาวดวงแก้ว (Arcturus) 
หากเราจะดูดาวดวงแก้ว ซึ่งสว่างเป็นอันดับ 3 ตามการจำลองจะพบได้ในวันที่ 2 มี.ค.2565 เวลา 23.00 น. โดยหน้าไปทางทิศตะวันออก อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

ตำแหน่งดาวดวงแก้ว เวลา 23.00 น.ของวันที่ 2 มี.ค.2565

ดาวดวงแก้ว อยู่ในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์

ดาวไรจิลเคนทอรัส (Rigil Kentaurus)
หากเราต้องการหาดาวไรจิลเคนทอรัส (Rigil Kentaurus) ก็พบว่าต้องหันหน้าไปทางทิศใต้ ในเช้ามืดของวันที่ 3 มี.ค.2565 เวลาประมาณ 04.00 น. ก็จะพบดาวสว่างอันดับ 4 ดวงนี้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (ฺCentaurus)

หันหาไปทางทิศไต้ วันที่ 3 มี.ค.2565 เวลา 04.00 น.
จะพบดาวไรจิลเคนทอรัส

ดาวไรจิลเคนทอรัส (Rigil Kentaurus) 
อยู่ในกลุ่มดาวคนคนครึ่งม้า

ดาวคาเพลลา (Capella) 
หากหันหน้าไปทางทิศเหนือ วันที่ 2 มี.ค.2565  เวลาประมาณ 20.00 น. เราจะพบดาวสว่างอันดับ 6 คือ ดาวคาเพลลา (Capella)  อยู่ในกลุ่มดาวสารถี (ฺAuriga)

ทิศเหนือวันที่ 2 มี.ค.2565 เวลา 20.00 น.
จะพบดาวคาเพลลา (Capella)

ดาวคาเพลลา (Capella) 
อยู่ในกลุ่มดาวสารถี

สำหรับการจำลองดาว อันดับ 5 ดาวเวกา (Vega) และอันดับ 9 อะเคอร์นาร์ (Achernar) ช่วงฤดูนี้จะไม่ค่อยได้เห็นเพราะดาว 2 ดวงนี้จะขึ้นในเวลากลางวันเป็นส่วนใหญ่

ลงสนามจริง
หลังจากได้ภาพจำลองจากโปรแกรม Stellarium แล้ว ช่วงกลางคืนผมวางแผนจะดูดาวที่สวนหน้าบ้านของผมนี่เอง ซึ่งบ้านผมอยู่ใน ต.หน้าเมือง อ.เมืองราชบุรี มีแสงสว่างรบกวนมากไม่แน่ใจว่าจะเห็นดาวฤกษ์เหล่านี้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่ โดยผมวางแผนไว้ ดังนี้
  • คืนวันที่ 2 มี.ค.2565 
    • เวลา 20.00-21.00 น. ดูดาวฤกษ์ 6 ดวง ได้แก่ ดาวคาเพลลา, ดาวซิริอุส, ดาวคาโบนัส, ดาวไรเจล, ดาวโพซิออน, และดาวเบเทลจุส 
    • เวลา 22.00-23.00 น. ดูดาวดวงแก้ว 
  • เช้ามืดวันที่ 3 มี.ค.2565 เวลา 03.00-04.00 น.ดูดาวไรจิลเคนทอรัส
อุปกรณ์ประกอบก็คงมีแค่ โปรแกรม Stellarium บน PC และ แอปพลิเคชั่น Star Walk 2 บนมือถือ เท่านั้น  คืนนั้นทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผน เพราะรอบ ๆ     บ้านผมมองไม่เห็นขอบฟ้า มีแต่ตัวอาคารบ้านเรือน จึงเป็นอุปสรรคต่อการดูดาวฤกษ์หลายดวงที่มีมุมเงยต่ำ ๆ ดาวฤกษ์ที่พอมองเห็นและถ่ายภาพได้ก็มีเฉพาะ ดาวซิริอุส  ดาวโพรซิออน ดาวเบเทลจุส ดาวไรเจล ดังภาพถ่ายด้านล่างนี้ ครับ

ภาพถ่ายจริงจากกล้องในโทรศัพท์มือถือของผมเอง
ตกแต่งเพิ่มเติมด้วย App. Snapseed

การดูดาวนี้ต้องใช้ความอดทนและรอคอยจริง ๆ นะครับ การฝึกดูดาวในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าเราสามารถวางแผนการดูดาวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

คราวหน้าคงต้องไปยังสถานที่ที่เหมาะสมจริง ๆ สำหรับการดูดาวสักครั้ง แต่คงต้องฝึกฝนทักษะและทำการบ้านล่วงหน้าไปก่อนว่าจะไปดูดาวอะไรบ้าง

***************************
บันทึกเมื่อ 3 มี.ค.2565 
พลตรี ดร.สุชาต  จันทวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์ราชบุรี

ที่มาข้อมูล
  • วิมุติ วสะหลาย. (2549). ดาวฤกษ์สว่าง. [Online]. Available : http://thaiastro.nectec.or.th/library/article/186/. [2565 มีนาคม 2].
  • Ken Crawford. (2022). Deep-Sky Objects in February 2022. [Online]. Available : https://starwalk.space/en/news/visible-deep-sky-objects-in-february. [2565 มีนาคม 2].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก