Translate

พวกเธออยู่ที่ไหน?

ยาน Voyager1 และ 2 ยานอวกาศไร้คนขับของ NASA ออกเดินทางจากโลกของเรา ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2520 เธอบินจากเราไป 46 ปีแล้ว ตอนนี้ เธอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  หากมีพวกเธออยู่ที่ไหนกัน


เวลาเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ก็อดไม่ได้ที่จะจินตนาการไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับความกว้างใหญ่ไพศาลของจักรวาล ความลึกลับ ความมหัศจรรย์ ความไร้ขอบเขต การดำรงอยู่ของดวงดาวนับแสนนับล้านดวง อีกทั้งกาแล็กซี เนบิวลา ที่นับไม่ก้วน 

เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ประดิษฐ์ยานอวกาศไร้คนขับขึ้นหลายลำ แล้วส่งพวกเขาขึ้นไปสำรวจดาวเคราะห์และวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะของเรา บ้างลำก็สูญหายไปแล้ว บางลำก็กำลังเดินทางสำรวจอยู่ และมี 2 ลำ ที่กำลังเดินทางไปไกลมากถึงสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ก็คือ ยานฝาแฝด  Voyager1 และ 2 ที่ไปได้ไกลกว่าเพื่อน ๆ และพวกเธอยังส่งสัญญาณวิทยุกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์บนโลกอย่างต่อเนื่อง

พ้นขอบระบบสุริยะ
ผมอยากรู้เรื่องราวของ Voyager ก็เลยเข้าไปอ่านเว็บไซต์ของ The Jet Propulsion Laboratory ซึ่งเป็นผู้ควบคุมโครงการ Voyager จึงทราบว่าตอนนี้ ยานฝาแฝด  Voyager1 และ 2 เดินทางพ้นขอบระบบสุริยะของเราที่เกิดจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า เฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) แล้วและกำลังเดินทางเข้าสู่ พื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว (Interstellar space) ซึ่งนับว่าไกลที่สุด เท่าที่มนุษย์เคยทำได้

ยาน Voyager1 ข้ามขอบเขตของเฮลิโอสเฟียร์และเข้าสู่พื้นที่ว่างระหว่างดวงดาวในปี พ.ศ. 2555 ตามมาด้วยยาน Voyager2 ซึ๋งเดินทางช้าลงและไปในทิศทางที่ต่างออกไป ข้ามขอบเขตของเฮลิโอสเฟียร์และเข้าสู่พื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว ในปี พ.ศ. 2561 

ยาน Voyager 1 และ 2 เดินทางพ้นขอบเขตของเฮลิโอสเฟียร์และเข้าสู่พื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว

การสำรวจจักรวาลเพิ่งเริ่มต้น
อ่านข่าวนาย Edward Stone เกษียณ หลังจากทำงานในตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ของโครงการ NASA Voyager มา 50 ปี ทำให้เข้าใจว่า การส่งยานอวกาศเพื่อเดินทางไปสำรวจจักรวาล ในแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลายาวนานมากกว่าครึ่งศตวรรษของมนุษย์คนหนึ่งเลยทีเดียว ทำตั้งแต่หนุ่มจนแก่ แต่ยานอวกาศที่สร้างขึ้น ก็พึ่งเดินทางไปได้แค่พ้นขอบระบบสุริยะของเราเท่านั้นเอง  แต่ก็ถือว่า การเดินทางของ Voyager1 และ 2 เป็นก้าวแรกของการสำรวจจักรวาลที่แท้จริงของมวลมนุษย์ชาติ  มันพึ่งเริ่มต้น 

เอ็ด สโตน คนที่ 2 จากซ้าย และสมาชิกคนอื่นๆ ของทีม Voyager
โพสท่ากับแบบจำลองยานอวกาศ Voyager ในปี พ.ศ.2520 ซึ่งเป็นปีที่ปล่อยยาน

ถ้าเทียบวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยปี พ.ศ.2520 กับสมัยนี้แทบจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ในปีนั้น ผมยังต้องเขียนจดหมายแล้วส่งทางไปรษณีย์อยู่เลย แต่นักวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นสุดยอดมาก ๆ ที่สามารถประดิษฐ์ยานอวกาศไร้คนขับส่งขึ้นไปสำรวจจักรวาลได้ และยังคงเดินทางสำรวจอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

พวกเธออยู่ที่ไหน
ในแอปพลิเคชั่น Eye on The Solar system ของ NASA  ใน "Voyager Grand Tour 1977-Today" รายงานเป็น real time ว่าขณะนี้ ฝาแฝดทั้ง 2 อยู่ตรงไหนแล้วในจักรวาล (ตามภาพด้านล่าง)

ตำแหน่งของ Voyager1 และ 2
Pioneer10 และ 11 สูญหายไปแล้ว
เมื่อ 24 พ.ย.2566 เวลา 14:18:08 น.
ที่มาของภาพ  (NASA.2566)

ตำแหน่ง Voyager1
ยาน Voyager1 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03:38 น. อยู่ตำแหน่งตามภาพด้านล่างนี้ ลองจินตนาการดูนะครับ ตอนนี้อยู่ในพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว (Interstellar space) พ้นขอบระบบสุริยะของเราที่เกิดจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า เฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) ไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2555 (11 ปีมาแล้ว)
  • ระยะห่างจากโลก 15,113,963,XXX ไมล์ (162.593XXXXX AU)
  • ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 15,041,924,XXX ไมล์ (161.818XXXXX AU)
  • คามเร็วเดินทาง 38,026.77 ไมล์/ชม.
  • ระยะห่างความเร็วแสง 22 ชม.32 นาที 14 วินาที
ตำแหน่ง Voyager 1  เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566
ที่มาของภาพ (Jet Propulsion Laboratory.2566)

ตำแหน่ง Voyager 2
ยาน Voyager 2 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 03:37 น. อยู่ตำแหน่งตามภาพด้านลางนี้ ลองจินตนาการดูนะครับ ตอนนี้อยู่ในพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว (Interstellar space) พ้นขอบระบบสุริยะของเราที่เกิดจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่า เฮลิโอสเฟียร์ (Heliosphere) ไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2561 (5 ปีมาแล้ว)
  • ระยะห่างจากโลก 12,598,045,XXX ไมล์  (135.527XXXXX AU)
  • ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 12,551,936,XXX ไมล์ (135.031XXXXX AU)
  • ความเร็วเดินทาง 34,390.98 ไมล์/ชม.
  • ระยะห่างความเร็วแสง 18 ชม.47 นาที 08 วินาที

ตำแหน่ง Voyager 2  เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2566
ที่มาของภาพ (Jet Propulsion Laboratory.2566)

เธอทำอะไรมาบ้าง 
ยาน Voyager1 และ 2 ได้สำรวจดาวเคราะห์ยักษ์ทั้งหมดของระบบสุริยะชั้นนอกของเรา ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ดวงจันทร์ 48 ดวง และระบบวงแหวนและสนามแม่เหล็กอันเป็นเอกลักษณ์ของดาวเคราะห์เหล่านั้น
  • ยานเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีที่สุด เมื่อ 5 มีนาคม 2522 (Voyager1) และ 9 กรกฎาคม 2522 (Voyager2)
  • ยานเข้าใกล้ดาวเสาร์ที่สุุด เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2523 (Voyager1) และ 25 สิงหาคม พ.ศ.2524 (Voyager2)
  • ยานเข้าใกล้ดาวยูเรนัสที่สุด วันที่ 24 มกราคม 2529 (Voyager2)
  • ยานเข้าใกล้ดาวเนปจูนที่สุด วันที่ 25 สิงหาคม 2532 (Voyager2)
ภาพถ่ายอันโด่งดังของ Voyager1
Pale Blue Dot เป็นภาพถ่ายโลกของเราที่ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2533 โดยยาน Voyager1 ที่ระยะห่าง 3.7 พันล้านไมล์ (6 พันล้านกิโลเมตร) จากดวงอาทิตย์ ภาพดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ คาร์ล เซแกน นักดาราศาสตร์ในโครงการสำคัญของ NASA ใช้ชื่อหนังสือของเขาว่า "Pale Blue Dot: A Vision of the Human Future in Space" โดยเขาเขียนบรรยายว่า "Look again at that dot. That's here. That's home. That's us." (มองดูจุดนั้นอีกครั้ง นั่นคือที่นี่ นั่นคือบ้าน นั่นคือพวกเรา)

Pale Blue Dot  เป็นภาพถ่ายโลก
ถ่ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2533 โดยยาน Voyager1 
ที่มาของภาพ (NASA/JPL-Caltech. 2566).

แล้วเธอจะไปไหน
  • ยาน Voyager1 เดินทางมุ่งหน้าไปยัง กลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) และกลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor)
  • ยาน Voyager2 เดินทางมุ่งหน้าไปยัง กลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius)  กลุ่มดาวนกยูง (Pavo) และดาวฤกษ์ ชื่อ รอสส์ 248 ซึ่งเป็นดาวดวงเล็กใน กลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda)
เธอจะหมดลมหายใจเมื่อไหร่
เดิมวิศวกรของ NASA ออกแบบ Voyager ให้ทำงานได้ 4 ปี แต่ถึงปัจจุบันเธอก็ทำงานมาถึง 46 ปีแล้ว และเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่บินไปไกลจากโลกมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำได้ ก็ภาวนาให้ทีมวิศวกรของ NASA จะสามารถต่ออายุเธอได้ และขอสวดภาวนาให้เธอเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางให้จงได้ ถึงแม้เวลานั้น  พวกเราจะไม่ได้อยู่ชื่นชมความสำเร็จของเธอแล้วก็ได้ 

ถ้าเป็นคน เธอคงอ่อนล้ามาก กับการเดินทางที่โดดเดี่ยวมายาวนานถึง 46 ปี ต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ แต่โดยลำพังในจักรวาลอันมืดมิด เมื่อใดที่เธอหายไป และไม่ติดต่อกลับมา ก็ขอให้ทราบว่า พวกเราขอขอบคุณ และขอสดุดีวีรกรรมของเธอที่ทำให้แก่โลกของเรา ไว้ชั่วนิรันดร์

*********************************
รวบรวม และเรียบเรียง โดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
23 พ.ย.2566

ที่มาข้อมูล
  • Jet Propulsion Laboratory. (2566). Voyager. [Online]. Available : https://voyager.jpl.nasa.gov/. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • Calla Cofield. (2565). Edward Stone Retires After 50 Years as NASA Voyager's Project ScientistJet Propulsion Laboratory. [Online]. Available : https://voyager.jpl.nasa.gov/news/details.php?article_id=127. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • Jet Propulsion Laboratory. (2566). Mission Status[Online]. Available : https://voyager.jpl.nasa.gov/mission/status/. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • Jet Propulsion Laboratory. (2566). Fast Facts[Online]. Available : https://voyager.jpl.nasa.gov/frequently-asked-questions/fast-facts/. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • Jet Propulsion Laboratory. (2566). Frequently Asked Questions[Online]. Available : https://voyager.jpl.nasa.gov/frequently-asked-questions/. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • NASA/JPL-Caltech. (2566). Voyager 1’s Pale Blue Dots[Online]. Available : https://science.nasa.gov/resource/voyager-1s-pale-blue-dot/. [2566 พฤศจิกายน 23].
  • NASA. (2566). Eye on The Solar system[Online]. Available : https://eyes.nasa.gov/apps/solar-system/#/home. [2566 พฤศจิกายน 24].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก