Translate

ดาวตกลีโอนิดส์ เคยตกถึง 100,000 ดวง/ชั่วโมง

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต จะเกิดในช่วงระหว่างวันที่ 6 - 30 พ.ย. ของทุกปี ในปี พ.ศ. 2566 นี้ จะมีอัตราการตกสูงสุดหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย.2566 เวลาประมาณ 01.00 น. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย.2566 อัตราการตกสูงสุดประมาณ 15 ดวง/ชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต 

ที่มาของภาพ Vito Technology, Inc. (2566)

ราชาแห่งฝนดาวตก
แหล่งกำเนิดของฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids meteor shower) เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle) ที่มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 33 ปี ดาวตกลีโอนิดส์ มีความเร็วมากกว่ากระสุนปืนไรเฟิล 200 เท่า ส่องแสงวูบวาบบินลงมาจากฟากฟ้าด้วยความเร็ว 71 กิโลเมตรต่อวินาที และทิ้งเส้นทางยาวสีน้ำเงินเขียวไว้เบื้องหลัง เหมือนกับรถไฟไอน้ำวิ่งผ่านท้องฟ้า เป็นดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จึงได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”

พายุดาวตกลูกแรก
เมื่อ 190 ปีที่แล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2376 ดาวตกลีโอนิดส์ มีอัตราการตกถึง 100,000 ดวงต่อชั่วโมง จึงถือว่าเป็น "พายุดาวตกลูกแรก" พายุดาวตกลีโอนิดส์ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์ในการศึกษาดาวตก

การที่จะเรียกว่า พายุดาวตก (The meteor storm) ได้นั้น ต้องมีดาวตกมากกว่า 1,000 ดวงต่อชั่วโมง หากต่ำกว่านี้ ก็จะเรียกว่า ฝนดาวตก (The meteor shower)

ชื่อภาพ The night the stars fell 

ในคืนที่ดาวตก
ภาพด้านบน มีชื่อภาพว่า "The night the stars fell"  (ในคืนที่ดาวตก) เป็นผลงานภาพแกะสลักไม้อันโด่งดัง แสดงพายุดาวตกลีโอนิดส์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2376 โดย อดอล์ฟ โวลล์ ตีพิมพ์ในหนังสือแอ๊ดเวนตีส เรื่อง “Bible Readings for the Home Circle” โดยจินตนาการมาจากภาพวาดของศิลปินชาวสวิส ชื่อ คาร์ล จัสลิน และจากคำบอกเล่าของ โจเซฟ ฮาร์วีย์ แวกโกเนอร์ รัฐมนตรี ผู้ที่เห็นเหตุการณ์พายุดาวตกในครั้งนั้นระหว่างเดินทางจากรัฐฟลอริดาไปยังรัฐนิวออร์ลีนส์ ส่วนภาพล่าง เป็นภาพวาดพายุดาวตกลีโอนิดส์ เหนือน้ำตกไนแอการา ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา

ภาพวาดพายุดาวตกลีโอนิดส์  ใน พ.ศ.2376
เหนือน้ำตกไนแอการา

เหตุการณ์สำคัญของฝนดาวตกลีโอนิดส์
  • เดือน พ.ย.2376 เกิดพายุดาวตกลีโอนิดส์ลูกแรก โดยมีอัตราการตกถึง 100,000 ดวงต่อชั่วโมง (ตอนนั้น ยังไม่พบดาวหางที่เป็นแหล่งกำเนิด)
  • 19 ธ.ค.2408 วิลเลียม เทมเพล แห่งหอดูดาวมาร์แซย์ ในประเทศฝรั่งเศส  ค้นพบดาวหางในท้องฟ้าใต้ดาวเหนือ ใกล้กับดาวเบตา อูร์แซ ไมโนริส
  • 5 ม.ค.2409 ฮอเรซ ทัตเทิล แห่งหอดูดาว วิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา ก็ค้นพบดาวหางดวงนี้เช่นกัน 
  • ดาวหางดวงนี้ จึงตั้งชื่อว่า  เทมเพล-ทัตเทิล มีคาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ 33.17 ปี
  • นักดาราศาสตร์คำนวณว่า พายุดาวตกลีโอนิดส์ ลูกถัดไป น่าจะเกิดขึ้นในรอบ  33 ปีตามวงโคจรของดาวหาง แต่ปรากฏว่าในปี พ.ศ. 2409 และในปี พ.ศ.2442 ไม่มีพายุดาวตกลีโอนิดส์เกิดขึ้น  
  • ต่อมาอีก 100 ปี ในวันที่ 17 พ.ย.2509 ก็เกิดพายุดาวตกลีโอนิดส์ อีกครั้ง อัตราการตก 40-50 ดวงพุ่งผ่านท้องฟ้าทุกวินาที (2,400 ถึง 3,000 ดวงต่อนาที) เป็นเวลา 15 นาที
  • อีก 35 ปี ต่อมา ในวันที่ 18 พ.ย.2544  มีพายุดาวตกลีโอนิดส์ เกิดขึ้นอีก (แต่อัตราการตกไม่มากเท่ากับปี พ.ศ.2509)
  • หากเป็นเช่นนี้ ในปี พ.ศ.2577 ก็น่าจะเกิด "พายุดาวตกลีโอนิดส์" ขึ้นอีกครั้ง ก็เหลือเวลาจากปัจจุบันอีก 11 ปี อย่าลืม ลุ้นชมกันนะครับ
ดาวตกลีโอนิดส์ มองจากอวกาศในปี พ.ศ.2540 ภาพโดย NASA
ที่มาของภาพ (Deborah Byrd. 2566)

ฝนดาวตกลีโอนิดส์เป็นเส้นสีเขียว
ที่มาของภาพ (Deborah Byrd. 2566)

อย่าลืมหาท้องฟ้ามืด ๆ ไปชมฝนดาวตกกันนะครับ

*****************************
เขียนโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
17 พ.ย.2566


ที่มาข้อมูล
  • Deborah Byrd. (2566). Leonid meteor shower: All you need to know in 2023EarthSky. [Online]. Available : https://earthsky.org/astronomy-essentials/everything-you-need-to-know-leonid-meteor-shower/. [2566 พฤศจิกายน 16].
  • Naoyuki Kurita. (2558). Dawn Moon, Pleiades & HyadesStellar Scenes[Online]. Available : https://stellarscenes.net/seikei_e/s118.htm. [2566 พฤศจิกายน 16].
  • Vito Technology, Inc. (2566). Leonid Meteor Shower Tonight: How to Watch?Star Walk 2[Online]. Available : https://starwalk.space/en/news/leonid-meteor-shower. [2566 พฤศจิกายน 16].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก