ความรู้พื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้นดู DSO
บนท้องฟ้ายามค่ำคืน นอกจากจะมีดวงดาวที่สวยงามให้ชมแล้ว ยังมีวัตถุที่แลดูลึกลับเต็มไปด้วยแสงสีตระการตา จึงอยากชวนให้มาลองชมกัน ก็คือ Deep Sky Objects (DSO) แปลเป็นไทยว่า "วัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก" หมายถึง วัตถุในทางดาราศาสตร์ที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา ที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์ ได้แก่ กาแล็กซี เนบิวลา ดาวเคราะห์ และกระจุกดาว
จะหา DSO ได้อย่างไร?
DSO นี้ ดูยากกว่าดาว ยิ่งถ้าท้องฟ้าไม่มืด ฟ้าไม่กระจ่างใส บาง DSO ก็มองไม่เห็น ยิ่งการค้นหาตำแหน่งก็ยาก วิธีที่ง่ายที่สุดในการค้นหา DSO ก็คือการใช้แอปพลิเคชันแผนที่ดาว เช่น Sky Tonight หรือ StarWalk 2 หรือแอปฯ อื่น ๆ ที่แต่ละคนถนัด สิ่งสำคัญ คือต้องจำชื่อภาษาอังกฤษ หรือชื่อตามแคตตาล็อกของ DSO นั้นให้ได้เพื่อใช้ในการค้นหา เช่น กระจุกดาวลูกไก่ ชื่อภาษาอังกฤษ Pleiades ชื่อตามแคตตาล็อก M45 เมื่อได้ชื่อแล้วก็พิมพ์ในช่องค้นหาเลย หลังจากนั้นแอปฯ ก็จะนำทางไปยังตำแหน่ง DSO ที่ต้องการ
ประเภทของ DSO
เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักและเข้าใจประเภทของ DSO เสียก่อน เพราะเวลาดูรูปภาพต่าง ๆ ที่นักล่า DSO โพสต์ไว้ จะได้พอเข้าใจได้เป็นเบื้องต้น ประเภทของ DSO ที่ดูและถ่ายภาพกันอยู่ แบ่งได้ง่าย ๆ เป็น 6 ประเภท ดังนี้
- เนบิวลาเปล่งแสง (Emission nebula) คือ มีแสงสว่างในตัวเอง ถ่ายภาพได้ง่าย
- เนบิวลาสะท้อนแสง (Reflection nebula) คือ มีแสงสว่างในตัวเองเหมือนกัน แต่แสงนั้นเกิดจากการกระเจิงของแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู้ใกล้ ๆ แสงไม่ร้อนมากพอที่จะทำให้เขาเปล่งแสงได้เอง เนบิวลาชนิดนี้ มักจะมีสีฟ้า การถ่ายภาพจะใข้เวลานาน
- เนบิวลามืด (Dark nebula) คือ ไม่มีแหล่งกำเนิดแสงอยู่ภายในหรือใกล้ ๆ จึงไม่มีแสงใด ๆ เลย จะถ่ายภาพเนบิวลามืดได้ ก็ต้องมีเนบิวลาสว่างหรือดาวฤกษ์จำนวนมากเป็นฉากหลัง
- เนบิวลาดาวเคราะห์ (Planetary nebula) คือ จริง ๆ มันไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ มันเป็นส่วนที่เคยเป็นแก๊สและฝุ่นผงชั้นผิวนอกของดาวฤกษ์ที่มีมวลน้อย พอดาวฤกษ์ดวงนั้นใกล้จุดจบก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นดาวยักษ์แดง และเมื่อปล่อยพลังไฮโดรเจนหมดแล้วก็จะยุบตัวกลายเป็นดาวแคระขาวต่อไป
- กาแล็กซี (Galaxy) คือ วัตถุท้องฟ้าที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์นับแสนล้านดวง กระจุกดาว แก๊ส ฝุ่นและสสารมืด รวมทั้งดาวเคราะห์ เนบิวลา อยู่รวมกันด้วยแรงดึงดูดจากความโน้มถ่วง
- กระจุกดาว (Star Cluster) คือ กลุ่มของดาวฤกษ์ที่อยู่รวมกันด้วยแรงดึงดูดจากความโน้มถ่วง สามารถแบ่งได้เป็น กระจุกดาวทรงกลม และ กระจุกดาวเปิด
DSO ที่น่าสังเกตในฤดูหนาว
กระจุกดาวสามเหลี่ยมหน้าวัว (Hyades star cluster)
ชื่อแคตตาล็อก : Caldwell 41, Cr 50, Mel 25
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 0.5
Hyades เป็นกระจุกดาวเปิดที่ตั้งชื่อตามห้าสาวพี่น้องลูกครึ่งของกระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades) เป็นดาวเคราะห์น้อยรวมตัวกันเป็นกระจุกเรียกว่า "ประตูทองแห่งสุริยุปราคา" (The Golden Gate of the Ecliptic) อยู่ใกล้กับระบบสุริยะมากที่สุด (ประมาณ 150 ปีแสง) มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (mag 0.5) และเป็นกลุ่มดาวสว่างที่เป็นส่วนหนึ่งของรูปตัว V ในกลุ่มดาววัว (taurus)
ชื่อแคตตาล็อก : Seven Sisters, M45, Cr 42, Mel 22
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 1.2
กระจุกดาวลูกไก่ที่อยู่ในกลุ่มดาววัว อยู่ห่างจากโลกของเราประมาณ 444 ปีแสง เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่อยู่ใกล้โลกที่สุด และสว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (mag 1.2) ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดมิด เราจะสามารถมองเห็นดาวอย่างน้อย 6 ดวง นักดูดาวที่มีตาเหยี่ยว สามารถเห็นดาวได้มากถึง 14 ดวง กล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้มองเห็นดาวที่จางกว่าได้
กาแล็กซีแอนโดรเมดา (Andromeda galaxy)
ชื่อแคตตาล็อก : NGC 224, M31, UGC 454
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 3.44
กาแล็กซีแอนโดรเมดาเป็นกาแล็กซีดาราจักรชนิดก้นหอยมีคาน และเป็นกาแล็กซีที่ใกล้ที่สุดกับ กาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา เดิมมีชื่อว่า เนบิวลาแอนโดรเมดา มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 152,000 ปีแสง และอยู่ห่างจากโลก 2.5 ล้านปีแสง ชื่อของกาแล็กซีนี้มาจากพื้นที่บนท้องฟ้าของโลกที่มันปรากฏ นั่นคือ กลุ่มดาวแอนโดรเมดา ซึ่งตั้งชื่อตามเจ้าหญิงผู้เป็นภรรยาของเพอร์ซีอุส ในตำนานเทพเจ้ากรีก
เนบิวลานายพราน (Orion Nebula)
ชื่อแคตตาล็อก : NGC 1976, M42, LBN 974, Sharpless 281
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 4.0
เนบิวลานายพราน ซึ่งเรียกอีกอย่างว่าเนบิวลานายพรานใหญ่ (The Great Orion Nebula) ที่นี่เหมือนแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ ซึ่งหมายความว่าเป็นบริเวณที่เกิดดาวดวงใหม่ ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยมสำหรับนักดาราศาสตร์ในการศึกษาการกำเนิดดาวฤกษ์ นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายการถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกด้วย ความสว่างที่ปรากฏ mag 4.0 มองด้วยตาเปล่า จะดูเหมือนพร่ามัว การใช้กล้องส่องทางไกลจะชัดขึ้น และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นดาวที่สว่างที่สุดสี่ดวง หรือที่เรียกว่า กระจุกดาวสี่เหลี่ยมคางหมู (The Trapezium cluster)
กาแล็กซีสามเหลี่ยม (Triangulum galaxy)
ชื่อแคตตาล็อก : M33, NGC 0598, UGC 1117, PGC 5818
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 5.7
แต่กาแล็กซีสามเหลี่ยมมีรูปทรงก้นหอย ชื่อของมันมาจากกลุ่มดาวสามเหลี่ยมซึ่งสามารถมองเห็นได้ เป็นกาแล็กซีที่ใหญ่เป็นอันดับสาม ในกลุ่มกาแลคซีท้องถิ่น รองจากกาแล็กซีแอนโดรเมดา และทางช้างเผือก กาแล็กซีสามเหลี่ยมมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของทางช้างเผือกของเรา และมีดาวฤกษ์ประมาณ 4 หมื่นล้านดวง หากเทียบกับทางช้างเผือกที่มี 4 แสนล้านดวงและ 1 ล้านล้านดวงสำหรับดาราจักรแอนโดรเมดา
กาแล็กซีสามเหลี่ยมเป็นหนึ่งในวัตถุที่อยู่ห่างไกลที่สุดที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (mag 5.7) ในสภาพเงื่อนไขการสังเกตที่เหมาะสม และสายตาที่แหลมคม การดูผ่านกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นได้ง่ายกว่า
กระจุกดาวทรงกลม เมสสิเออร์ 92 (M92 star cluster)
ชื่อแคตตาล็อก : NGC 6341, Mel 168
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 6.4
กระจุกดาว M92 อยู่ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลิส เป็นกระจุกดาวทรงกลม เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่เก่าแก่ และสว่างที่สุดในทางช้างเผือก และมีดาวฤกษ์ประมาณ 330,000 ดวง ด้วย mag 6.4 ทำให้ M92 สามารถมองเห็นได้ง่ายด้วยกล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก และหากอยู่ในสภาวะการสังเกตที่เหมาะสม ก็จะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่นกัน
เนบิวลาหัวใจ (Heart Nebula)
ชื่อแคตตาล็อก : IC1805, Sh2-190
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 6.5
เนบิวลาหัวใจเป็นเนบิวลาเปล่งแสงที่อยู่ในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 7,500 ปีแสง (mag 6.5) เนื่องจากมีรูปร่างที่โดดเด่นจึงเป็น DSO ยอดนิยม เนบิวลาหัวใจค่อนข้างจางทำให้ยากต่อการสังเกต การถ่ายภาพต้องใช้แบบเปิดรับแสงนาน หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีรูรับแสงกว้าง นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ มักชอบที่จะถ่ายภาพเนบิวลาหัวใจ ร่วมกับ เนบิวลาวิญญาณ (Soul Nebula) (IC1848) มักเรียกรวมกันว่า "เนบิวลาหัวใจและจิตวิญญาณ" (Heart and Soul Nebula)
Heart and Soul Nebulae ที่มาของภาพ (astroworldcreations.2564) |
เนบิวลาดัมบ์เบลล์ (Dumbbell Nebula)
ชื่อแคตตาล็อก : M27, NGC 6853
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 7.4
เนบิวลาดาวเคราะห์ดวงแรกที่เคยค้นพบ ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาววัลเปคูลา (Vulpecula) มีรูปร่างเป็นทรงกลมที่ไม่ปกติ ซึ่งมีบริเวณที่สว่างกว่าดูเหมือนแอปเปิ้ลที่กินไปครึ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ บางครั้ง จึงเรียกว่า Apple Core Nebula เนบิวลาดัมเบลล์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่งคุณสามารถมองเห็นเนบิวลา ด้วยกล้องส่องทางไกล ในสภาพของท้องฟ้าที่มืดสนิท
เนบิวลาวงแหวน (Ring Nebula)
ชื่อแคตตาล็อก : M57, NGC 6720, PGC 3517795
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 8.7
เนบิวลาวงแหวนเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ลำดับที่สองที่เคยค้นพบ ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวพิณ (Lyra) ทางใต้ของดาวสว่างเวก้า รูปทรงทรงกลมอันโดดเด่นของเนบิวลาวงแหวนชวนให้นึกถึง วงแหวน หรือขนมปังโดนัท เนบิวลานี้ยังค่อนข้างสว่าง (mag 8.7) จึงเป็นเป้าหมายยอดนิยมสำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น มองไม่เห็นด้วยกล้องส่องทางไกล ต้องใช้กล้องโทรทัศน์ในการสังเกต
กาแล็คซี NGC 891 (NGC 891 galaxy)
ชื่อแคตตาล็อก : C 23, PGC 9031, UGC 1831
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 10.0
กาแล็กซี NGC 891 ที่อยู่ในกลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) รูปร่างที่ยาวของมันนั้นมีลักษณะคล้ายกับทางช้างเผือก (Milky way) เป็นอย่างมากเมื่อมองจากโลก เป็นดาราจักรชนิดก้นหอยเช่นเดียวกับของเรา และมีขนาดและความส่องสว่างใกล้เคียงกัน ด้วย mag 10.0 จึงสามารถมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือขนาดกลาง
DSO ยอดนิยมในกลุ่มดาวนายพราน
มีอีก 2 เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพรานที่นักดาราศาสตร์มักชอบถ่ายภาพคู่กัน คือ
- เนบิวลาหัวม้า (Horsehead) ชื่อแคตตาล็อก บาร์นาร์ด 33, LDN 1630, IC 434, NGC 2023 เป็นเนบิวลามืดในกลุ่มดาวนายพราน ห่างจากโลกเรา 1,375 ปีแสง ความกว้างบริเวณคอม้านั้นใหญ่กว่าระบบสุริยะของเรามาก
- เนบิวลาเปลวเพลิง (Flame Nebula) ชื่อแคตตาล็อก NGC 2024 and Sh2-277 (mag 10) เป็นเนบิวลาเปล่งแสงในกลุ่มดาวนายพราน อยู่ห่างออกไป ประมาณ 900 ถึง 1,500 ปีแสง
เนบิวลาเปลวเพลิง (ซ้าย) เนบิวลาหัวม้า (ขวา) ที่มาของภาพ (master darks.2564) |
เนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula)
ชื่อแคตตาล็อก : NGC6611, M16
ความสว่างปรากฏ (Apparent magnitude) : 6.0
เนบิวลานกอินทรี ที่มาของภาพ (Shawn Nielsen. 2564) |
เป็นเนบิวลาเปล่งแสงขนาดใหญ่ หนึ่งในเนบิวลาที่สวยงามที่สุดบนท้องฟ้า งดงามโดดเด่นที่สุดในกลุ่มดาวงู (Serpens) อยู่บริเวณส่วนหาง (Serpens Cauda) ห่างจากโลกประมาณ 7,000 ปีแสง มีอันดับความสว่าง 6.0 ขนาดกว้างใหญ่ประมาณ 70 x 55 ปีแสง หากสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางและเล็กจะเห็นกระจุกดาว ซึ่งมีดาวฤกษ์ประมาณ 20 ดวง ในสภาพท้องฟ้าที่มืดสนิทจะสามารถมองเห็นเนบิวลาที่ล้อมรอบกระจุกดาวอีกด้วย
ในเนบิวลานกอินทรี นี้ ตรงกลางจะมีลักษณะเหมือนเสา 3 ต้น ซึ่งเรียกว่า Pillar of Creation แปลเป็นไทยเรียกว่า เสาแห่งการก่อกำเนิด บ้าง หรือ เสาหลักแห่งการสร้างสรรค์ บ้าง โครงสร้างเสาทั้งสามต้นประกอบไปด้วยก๊าซและฝุ่นละอองที่มีความหนาแน่นมาก ก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวของลมดาวฤกษ์จากดาวยักษ์
เสาแห่งการก่อกำเนิด (Pillar of Creation) ที่มาของภาพ (hubblesite. 2558) |
สรุปท้ายเรื่อง
การดู DSO ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้การฝึกฝนพอสมควร การเรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์จะทำให้สามารถดู DSO ได้รวดเร็วขึ้น เริ่มต้นด้วยการฝึกหาตำแหน่ง ฝึกการดูด้วยตาปล่าว ดูด้วยกล้องส่องทางไกล ดูด้วยกล้องโทรทรรศน์ จนเกิดความชำนาญและทักษะ เรื่องสภาพความมืดของท้องฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญ การดู DSO ต้องดูในสภาพท้องฟ้าที่ค่อนข้างมืด และมีความกระจ่างใส
หลังจากดู DSO เป็นแล้ว ใครสนใจจะขยับขึ้นไปถึงขั้นการถ่ายภาพ DSO ก็ได้เลยครับ ซึ่งต้องใช้ทักษะ เทคนิค อุปกรณ์ และเทคโนโลยีขั้นเทพกันเลยทีเดียว กว่าจะได้ภาพสวย ๆ อย่างที่หลายท่านโพสต์มาให้ชม
*****************************
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
7 พ.ย.2566
ที่มาข้อมูล
- Vito Technology, Inc. (2023). Best Deep Sky Objects by Month: November 2023. [Online]. Available : https://starwalk.space/en/news/november-deep-sky-objects?utm_source=starwalk2-google&utm_medium=nov-dso&utm_campaign=share. [2566 พฤศจิกายน 6].
- AstroShop. (2564). สิ่งควรรู้ก่อนออกไปสู่ถ่าย Deep Sky Objects (ตอนที่ 1). [Online]. Available : http://www.astrook.com/article/1/สิ่งควรรู้ก่อนออกไปสู่ถ่าย-deep-sky-objects-ตอนที่-1. [2566 พฤศจิกายน 7].
- astroworldcreations. (2564). IC1848 - Heart and Soul Nebulae. [Online]. Available : https://www.astroworldcreations.com/image-details/heart-and-soul. [2566 พฤศจิกายน 7].
- master darks. (2560). NGC 2023 - Horsehead and Flame Region in Orion. [Online]. Available : https://masterdarks.com/ngc-2023-horsehead-and-flame-region-in-orion/. [2566 พฤศจิกายน 7].
- hubblesite. (2558). Eagle Nebula 'Pillars of Creation'. [Online]. Available : https://hubblesite.org/contents/media/images/3862-Image?keyword=m16. [2566 พฤศจิกายน 7].
- Shawn Nielsen. (2564). M16 THE EAGLE NEBULA AND PILLARS OF CREATION. [Online]. Available : https://telescope.live/gallery/m16-eagle-nebula-and-pillars-creation. [2566 พฤศจิกายน 7].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น