ดาวลูกไก่ เคียง ดวงจันทร์ วันลอยกระทง
เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades star cluster) หรือ 7-Sisters ที่รู้จักกันทั่วโลก จะเริ่มปรากฏโฉมให้เราเห็นตั้งแต่หัวค่ำ ยิ่งตอนนี้ก็จะอยู่เคียงข้างกับดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ราชาแห่งทวยเทพ ที่ส่องสว่างโดดเด่นอยู่กลางท้องฟ้า และในคืนวันลอยกระทงปีนี้ จะอยู่เคียงข้างกับดวงจันทร์ ด้วย
ที่มาของภาพ ปรับปรุงจาก (Bruce McClure. 2564) |
หลากหลายตำนาน
เป็นเวลานับกว่าพันปีมาแล้วที่เรื่องราวของดาว 7 ดวง ในกระจุกดาวลูกไก่ อันโด่งดังไปทั่วโลก กลายเป็น กลุ่มดาวที่น่าประหลาดใจและน่าหลงใหล พวกเขากลายเป็นตำนานในเกือบทุกวัฒนธรรมบนโลก ได้รับการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก ผ่านบทกวี ศิลปะ ดนตรี และสถาปัตยกรรม อาทิ ชาวกรีก ชาวอะบอริจิน จีน ชนพื้นเมืองอเมริกัน อียิปต์ เปอร์เซีย อินเดีย ไทย โพลีนีเซียน และอื่นๆ อีกมากมาย
ตำนานเทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นตำนานดาวที่ถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด กล่าวว่า กลุ่มดาวลูกไก่ ประกอบด้วย เจ็ดสาวพี่น้อง เป็นธิดาของ แอตลาส (Atlas) เทพเจ้าไททัน ซึ่งในช่วงสงครามเคยก่อกบฏต่อ เทพซูส (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพ จึงถูกลงโทษให้แบกสวรรค์ไว้บนบ่าตลอดไป และ พลีโอเน (Pleione) ผู้พิทักษ์หญิง นางไม้แห่งท้องทะเลในตำนานของกะลาสีเรือ ได้แก่
- อัลซีโยเน่ (Alcyone)
- เซเลโน (Celaeno)
- อิเล็กตรา (Electra)
- ไมอา (Maia)
- เมโรเป (Merope) (ดาวลูกไก่ที่สูญหายไป)
- เทย์เกตา (Taygete)
- แอสเทอโรป (Asterope)
เรื่องตำนานเจ็ดสาวพี่น้อง ว่าทำไมจึงกลายเป็นดาวเจ็ดดวงบนท้องฟ้านั้น พอสรุปได้ว่า ธิดาทั้งเจ็ดคนเป็นที่รักของเหล่าเทพเจ้าและมนุษย์จำนวนมาก หนึ่งในผู้ที่หลงรักพวกเธอ คือ นายพราน Orion วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ นายพราน Orion ไล่ตามธิดาทั้งเจ็ดคน จนพวกเธอต้องหนีไปซ่อนตัวในถ้ำบนภูเขา เทพซูส ราชาแห่งทวยเทพ สงสารธิดาทั้งเจ็ดคนจึงแปลงร่างพวกเธอให้กลายเป็นนกพิราบสีขาว บินหนีขึ้นไปบนท้องฟ้า และกลายเป็นกลุ่มดาว Pleiades ซึ่งปัจจุบัน กลุ่มดาวนายพราน (Orion) ก็ยังไล่ตามเธออยู่
ผมก็ไม่แน่ใจว่าตำนานนี้ถูกหรือปล่าว อ่านจากข้อมูลออนไลน์แล้ว ยังงง ๆ ไม่รู้จะเชื่อสำนักไหนดี ลองหาอ่านเอานะครับ แต่ที่แน่ ๆ คือ แต่เดิม ชาวโบราณเห็นดาวลูกไก่ 7 ดวง แต่ปัจจุบัน หายไป 1 ดวง คือ ดาวเมโรเป ปัจจุบันเหลืออยู่ 6 ดวง
กระจุกดาวลูกไก่อยู่ในกลุ่มดาววัว อยู่ห่างจากโลกของเราประมาณ 444 ปีแสง เป็นหนึ่งในกระจุกดาวที่อยู่ใกล้โลกที่สุด และสว่างพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (mag 1.2) หากท้องฟ้าที่มืดมิด เราจะสามารถมองเห็นดาวอย่างน้อย 6 ดวง นักดูดาวที่มีตาเหยี่ยว อาจสามารถเห็นดาวได้มากถึง 14-20 ดวง กล้องส่องทางไกลหรือกล้องโทรทรรศน์จะช่วยให้มองเห็นดาวที่จางกว่าได้
กระจุกดาวลูกไก่ เคียง ดาวศุกร์ ที่มาของภาพ (Bruce McClure. 2564) |
กลุ่มดาวลูกไก่และดาวตาวัว
ดาว Aldebaran (ตาวัว) มาจากคำภาษาอาหรับที่แปลว่า ผู้ตาม ซึ่งเชื่อกันว่า ดาวตาวัวนี้ จะวิ่งไล่ตามดาวลูกไก่ไปทั่วสวรรค์ตลอดนิรันดร์กาล โดยปกติ ตอนเย็นกระจุกดาวลูกไก่จะลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าทางทิศตะวันออกก่อน แล้วดาวตาวัวก็จะตามขึ้นมา โคจรตามกันไปจนกระทั่งรุ่งเช้า ทางทิศตะวันตก กระจุกดาวลูกไก่จะตกก่อน แล้วดาวตาวัวก็จะตกตามไป
ดาวลูกไก่ เคียง ดวงจันทร์ วันลอยกระทง
ในคืนวันที่ 27 พ.ย.2566 ซึ่งเป็นวันลอยกระทง ตามประเพณีไทย ดวงจันทร์ขึ้น 15 ค่ำ ดาวลูกไก่ จะอยู่ในตำแหน่งใกล้กับดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ 18:00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ภาพที่เห็นจะประมาณภาพด้านล่างนี้
ที่มาข้อมูล
ท่านใดยังไม่รู้จักดาวลูกไก่ คืนวันลอยกระทง ลองชมกันดูนะครับ
*****************************
เขียนโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
16 พ.ย.2566
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
16 พ.ย.2566
ที่มาข้อมูล
- Lucinda Riley. (2561). Myths and Legends of the Pleiades. Lucinda Riley. [Online]. Available : https://lucindariley.co.uk/myths-and-legends/. [2566 พฤศจิกายน 16].
- Bruce McClure. (2564). Pleiades – or 7 Sisters – known around the world. EarthSky. [Online]. Available : https://earthsky.org/favorite-star-patterns/pleiades-star-cluster-enjoys-worldwide-renown/. [2566 พฤศจิกายน 16].
- Naoyuki Kurita. (2558). Dawn Moon, Pleiades & Hyades. Stellar Scenes. [Online]. Available : https://stellarscenes.net/seikei_e/s118.htm. [2566 พฤศจิกายน 16].
- Vito Technology, Inc. (2566). The Pleiades: One of the Best Naked-Eye Deep-Sky Objects. Star Walk 2. [Online]. Available : https://starwalk.space/en/news/m45-pleiades-star-cluster?utm_source=starwalk2-google&utm_medium=pleiades&utm_campaign=share. [2566 พฤศจิกายน 16].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น