ภาพชุดแรกของ Euclid : จากขอบจักรวาลอันไกลโพ้น
วันนี้ (7 พ.ย.2566) องค์กรอวกาศของยุโรป (European Space Agency : ESA) เผยแพร่ภาพชุดแรกของภารกิจ Euclid space เป็นภาพสีเต็มรูปแบบจากจักรวาลอันไกลโพ้น ซึ่งยังไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ชนิดใดจะสามารถสร้างภาพได้ชัดเจนและมีรายละเอียดขนาดนี้มาก่อน และในภาพยังสามารถมองลึกลงไปยังห้วงจักรวาลได้ไกลมาก ภาพทั้ง 5 ภาพนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Euclid ว่าเขาจะเป็นกล้องโทรทรรศน์ สำหรับสร้างแผนที่จักรวาล 3 มิติ ที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมีมา เพื่อพยายามเปิดเผยความลับที่ซ่อนอยู่ในจักรวาล
ดำดิ่งสู่จักรวาลผ่านดวงตาของ Euclid
กระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอูส
The Perseus Cluster of galaxies
ภาพถ่ายนี้เป็นการปฏิวัติทางดาราศาสตร์ ในภาพแสดงกาแล็กซี 1,000 แห่งที่อยู่ในกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส และลึกเข้าไปในภาพ ยังมีกาแล็กซีอื่น ๆ อีกกว่า 100,000 แห่งที่อยู่ด้านหลัง กาแล็กซีจาง ๆ เหล่านี้หลายแห่งไม่เคยถูกพบเห็นมาก่อน บางส่วนอยู่ห่างไกลมาก แสงของพวกเขาต้องใช้เวลาเดินทางถึงหมื่นล้านปี กว่าจะมาถึงเรา
นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ภาพขนาดใหญ่ของกระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุส Euclid ช่วยให้เราสามารถจับภาพกาแล็กซีจำนวนมากได้โดยมีรายละเอียดสูง กระจุกกาแล็กซีเพอร์ซีอุสเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลที่เรารู้จัก อยู่ห่างจากโลกเพียง 240 ล้านปีแสง
กาแล็กซีกังหัน IC 342
Spiral galaxy IC 342
IC 342 หรือ Caldwell 5 เป็นกาแล็กซีที่่ซ่อนอยู่ ห่างจากโลกประมาณ 11 ล้านปีแสง ใกล้กับกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา มีขนาดใหญ่เท่ากับดวงจันทร์เต็มดวงบนท้องฟ้า เป็นกาแล็กซีชนิดกังหันเหมือนกับทางช้างเผือกของเรา ทำให้เราสามารถใช้ IC 342 เป็นตัวอย่างในการศึกษาทางช้างเผือกของเราได้ (เหตุที่เราศึกษาทางช้างเผือกของเราได้ยาก เพราะเราอยู่ภายใน ไม่สามารถมองไม่เห็นกาแล็กซีของเราเองในภาพรวมได้)
Irregular galaxy NGC 6822
ในการสร้างแผนที่จักรวาล 3 มิติ Euclid จะสำรวจแสงจากกาแล็กซีออกไปไกลถึง 1 หมื่นล้านปีแสง กาแล็กซียุคแรก ๆ ส่วนใหญ่ในเอกภพ จะมีลักษณะไม่เหมือนกับกังหัน ไม่มีก้นหอยที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีลักษณะไม่ปกติและมีขนาดเล็ก แต่พวกมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของกาแล็กซีขนาดใหญ่ อย่างทางช้างเผือกของเรา และเรายังสามารถพบกาแล็กซีประเภทนี้ได้ บางแห่งค่อนข้างอยู่ใกล้กับเรา กาแล็กซีแคระแห่งแรกที่ผิดปกติ ที่ Euclid สังเกตเห็นคือภาพนี้ เรียกว่า NGC 6822 อยู่ห่างจากโลกเพียง 1.6 ล้านปีแสง
Globular cluster NGC 6397
ภาพถ่ายระยิบระยับนี้ แสดงมุมมองของ Euclid บนกระจุกดาวทรงกลมที่เรียกว่า NGC 6397 ซึ่งเป็น กระจุกดาวทรงกลมที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดเป็นอันดับสอง อยู่ห่างจากโลกประมาณ 7,800 ปีแสง กระจุกดาวทรงกลมเป็นกลุ่มดาวฤกษ์นับแสนดวงที่รวมตัวกันด้วยแรงโน้มถ่วง ในปัจจุบัน ไม่มีกล้องโทรทรรศน์อื่นใดนอกจาก Euclid เท่านั้นที่สามารถสังเกตกระจุกดาวทรงกลมทั้งหมดได้ในการสังเกตการณ์เพียงครั้งเดียว และในขณะเดียวกันก็สามารถแยกแยะดาวฤกษ์จำนวนมากในกระจุกดาวนั้นได้ด้วย ดาวจาง ๆ เหล่านี้ บอกให้เราทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของทางช้างเผือกและที่ตั้งของสสารมืด
เนบิวลาหัวม้า
The Horsehead Nebula
Euclid แสดงให้เราเห็นมุมมองแบบพาโนรามาและมองเห็นรายละเอียดอันตระการตาของเนบิวลาหัวม้า หรือที่รู้จักในชื่อ Barnard 33 สถานที่ที่เป็นแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์เกิดใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวนายพราน (Orion)
เกี่ยวกับ Euclid
Euclid เป็นภารกิจสำรวจจักรวาลวิทยาขององค์กรอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) ออกแบบมาเพื่อสำรวจองค์ประกอบและวิวัฒนาการของจักรวาลอันมืดมิด เพื่อสร้างแผนที่สามมิติของจักรวาล (โดยมีเวลาเป็นมิติที่สาม) โดยจะสังเกตกาแล็กซีหลายพันล้านแห่งในระยะ 10 พันล้านปีแสง เพื่อตอบคำถามที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างและประวัติของเครือข่ายจักรวาลคืออะไร? ลักษณะของสสารมืดคืออะไร? การขยายตัวของจักรวาลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป? ลักษณะของพลังงานมืดคืออะไร? และความเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงของเราถูกต้องหรือไม่?
ยานอวกาศ Euclid มีความสูงประมาณ 4.7 ม. และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.7 ม. ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักสองส่วน: โมดูลบริการและโมดูลน้ำหนักบรรทุก
โมดูลน้ำหนักบรรทุก ประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.2 ม. และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ 2 ชิ้น ได้แก่ กล้องความยาวคลื่นที่มองเห็นได้ (อุปกรณ์ VISible, VIS) และกล้อง/สเปกโตรมิเตอร์ใกล้อินฟราเรด (Near-Infrared Spectrometer and Photometer, NISP) ส่วนโมดูลบริการประกอบด้วยระบบดาวเทียม ได้แก่ การผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า การควบคุมทัศนคติ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการประมวลผลข้อมูล ระบบขับเคลื่อน คำสั่งโทรคมนาคมและการวัดระยะไกล และการควบคุมความร้อน
Euclid อออกเดินทางจากแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อ 1 กรกฎาคม 2566 โดย SpaceX Falcon 9 วงโคจรปฏิบัติการเป็นรัศมีรอบจุดดวงอาทิตย์-โลก Lagrange point 2 (L2) ห่างจากโลก 1.5 ล้านกิโลเมตรเหนือวงจรโลก ระยะเวลาทำภารกิจ 6 ปี
*****************************
ที่มาข้อมูล
- ESA. (2023). Euclid's first images: the dazzling edge of darkness. [Online]. Available : https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_ Science/ Euclid/Euclid_s_first_images_the_dazzling_edge_of_darkness. [2566 พฤศจิกายน 8].
- ESA. (2023). Euclid overview. [Online]. Available : https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_Science/Euclid_overview. [2566 พฤศจิกายน 8].
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น