Translate

มีอะไรให้ชมบ้าง : ไกด์นำชมดาว 9 ธันวาคม 2566 @ สวนผึ้ง

ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี ได้จัดกิจกรรม "ชมทะเลดาวและทางช้างเผือก ครั้งที่ 2" ในวันที่ 9 ธ.ค.2566 ณ The Bee Camping อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ในคืนนั้นมีอะไรให้ชมกันบ้าง ลองอ่านดูกันนะครับ


กำหนดเวลาทางดาราศาสตร์ที่สำคัญ
  • ดวงอาทิตย์ตก เวลา 17:51 น.
  • แสงสนธยาช่วงเย็น เวลา 17:51-19:05 น.
  • คืนนี้ ไม่มีแสงดวงจันทร์รบกวนในการดูดาว ดวงจันทร์จะไปขึ้นในรุ่งเช้าของวันที่ 10 ธ.ค.2566 (แรม 13 ค่ำ ความสว่าง 9%) เวลา 03:48 น.
  • แสงสนธยาช่วงเช้า เวลา 05:05-06:18 น.
  • ดวงอาทิตย์ขึ้น เวลา 06:18 น.
ดาวฤกษ์สว่าง 25 ดวงบนท้องฟ้า
กลุ่มดาวยอดนิยม
ด้านทิศตะวันออก
  • ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) สว่างโดดเด่นอยู่กลางฟ้า
  • กลุ่มดาวนายพราน (Orion) จะเห็นดาวสามดวงเรียงกัน เรียกว่า เข็มขัดนายพราน (Orion's Belt) ในกลุ่มดาวนี้ จะมีดาวสว่างคือ ดาวไรเจล (Rigel) และดาวเบเทลจุส (Betelgeuse) และมี DSO ได้แก่ เนบิวลานายพราน (The Great Orion Nebula), เนบิวลาหัวม้า (Horsehead) และเนบิวลาเปลวเพลิง (Flame Nebula)
  • กลุ่มดาววัว (Taurus) หรือกลุ่มดาวราศีพฤษภ จะเห็นดาวเรียงกันเป็นรูปตัววี มีดาวสว่างคือ ดาวอัลเดบารัน (ดาวตาวัว) ส่วน DSO ก็คือ กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades star cluster), กระจุกดาวสามเหลี่ยมหน้าวัว (Hyades star cluster)
  • กลุ่มดาวสารถี (Auriga) ดาวสว่างคือ ดาวคาเพลลา (Capella)  
  • กลุ่มดาวหมาใหญ่ (Canis Major) ดาวสว่างคือ ดาวซิริอุส (Sirius) หรือดาวโจร เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า รองจากดวงอาทิตย์
  • กลุ่มดาวหมาเล็ก (Canis Minor) ดาวสว่างคือ ดาวโพรซิออน (Procyon)
  • กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) มีดาวสว่างฝาแฝดคือ ดาวพอลลักซ์ (Pollux) และดาวคาสเตอร์ (Castor)
  • สามเหลี่ยมฤดูหนาว คือ เส้นสมมติระหว่าง ดาวซิริอุส ↔ ดาวเบเทลจุส  ↔ ดาวโพรซิออน
  • หกเหลี่ยมฤดูหนาว คือ เส้นสมมติระหว่าง ดาวซิริอุส ↔ ดาวโพรซิออน ↔ ดาวพอลลักซ์ ↔ ดาวคาเพลลา ↔ ดาวอัลเดบารัน ↔ ดาวไรเจล

ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • กลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) ดาวสว่างคือ ดาวไมรา (Mirach) มี DSO คือ กาแล็กซีแอนโดรเมดา และตรงปลายเท้าเจ้าหญิงคือ กาแล็คซี NGC 891 
  • กลุ่มดาวเพอร์ซิอัส (Perseus) ดาวสว่างคือ ดาวอัลฟาเพอร์เซย์ (Mirfak) ดาวที่น่าสังเกตคือ ดาวปีศาจ (Algol) ดาวปีศาจนี้ เปรียบเป็นดวงตาของเมดูซ่า
  • กลุ่มดาวสามเหลี่ยม (Triangulum) มี DSO คือ กาแล็กซีสามเหลี่ยม (Triangulum galaxy)
  • กลุ่มดาวแกะ (Aries) หรือ กลุ่มดาวราศีเมษ
ด้านทิศเหนือ
  • กลุ่มดาวแคสซิโอเปีย (Cassiopeia) หรือกลุ่มดาวค้างคาว คล้ายอักษรภาษาอังกฤษ ตัว M หรือ W จะมี DSO ได้แก่ เนบิวลาหัวใจ (Heart Nebula) บริเวณปลายปีกค้างคาว
  • ดาวเหนือ (Polaris) เป็นดาวที่ไม่ขึ้นไม่ตก นิ่งอยู่กับที่ ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ตำแหน่งดาวเหนือจะสูงเหนือขอบฟ้าประมาณ 13°
  • กลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) หรือดาวจระเข้ หรือดาวกระบวย จะหมุนรอบดาวเหนือ จะขึ้นเต็มตัวเวลา 02:20 น.ของวันรุ่งขึ้น
  • กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) หมุนรอบดาวเหนือ ปลายหางหมีคือดาวเหนือ  จะขึ้นเต็มตัวเวลา 02:30 น. ของวันรุ่งขึ้น
ด้านระหว่างทิศเหนือถึงทิศตะวันตก
  • กลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) ดาวสว่างคือ ดาวอัลแทร์ (Altair) หรือดาวตากนกอินทรี จะมี DSO เนบิวลาดัมบ์เบลล์ (Dumbbell Nebula) อยู่ระหว่างหัวนกอินทรี กับหัวหงส์
  • กลุ่มดาวพิณ (Lyra) ดาวสว่างคือ ดาวเวกา (Vega) และจะมี DSO คือ เนบิวลาวงแหวน (Ring Nebula) ในกลุ่มดาวนี้ 
  • กลุ่มดาวหงส์ (Cygnus) ดาวสว่างคือ ดาวเดเนบ (Deneb) หรือ ดาวหางหงส์  ตัวหงส์ คือ แนวทางช้างเผือก จะพาดผ่านตรงกลางระหว่างดาวเวกา และดาวอัลแทร์
  • สามเหลี่ยมฤดูร้อน คือ เส้นสมมติระหว่าง ดาวเวกา ↔ ดาวเดเนบ ↔ ดาวอัลแทร์ 
ด้านทิศใต้
  • กลุ่มดาวแม่น้ำ (Eridanus) จะมีดาวสว่างคือ ดาวอะเคอร์น่า (Achernar) อยู่ในตำแหน่งปากแม่น้ำ แม่น้ำจะคดเคี้ยวไปยังต้นแม่น้ำ ซึ่งอยู่บริเวณดาวไรเจลในกลุ่มดาวนายพราน
  • กลุ่มดาวท้ายเรือ (Puppis) จะมีดาวสว่างคือ ดาวคาโนปัส (Canopus)
  • ดาวเสาร์ (Saturn) จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ขอให้ท่านผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 9 ธ.ค.2566 อ่านให้ผ่านตาไว้ก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานในการดูดาว อาจจะงงกับทิศทาง กลุ่มดาว ชื่อดาว หรือ DSO  ต่าง ๆ ก็ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยววันจริงจะเข้าใจง่ายขึ้น และหากท่านใดติดตั้งแอปพลิเคชันดูดาวแล้ว ก็ลองจำลองภาพท้องฟ้าคืนวันนั้น ดูได้เลย  

อ่านเพิ่มเติม

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก