Translate

นักถ่ายดาวแบบมินิมอล ใคร ๆ ก็เป็นได้

มินิมอล (Minimal) มีความหมายว่า น้อยที่สุด หรือขั้นต่ำสุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเราสามารถนำหลักการนี้ มาใช้กับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ซึ่งมีต้นทุนสูง ก็จะทำให้หลายคนสามารถลดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย รู้จักใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ต้องพะวงกับราคาค่าอุปกรณ์ที่แสนแพง ซึ่งจะทำให้มีความสุขและเพลิดเพลินไปกับการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ได้อย่างเต็มที่   


วัตถุบนท้องฟ้าในการถ่ายภาพ
วัตถุบนท้องฟ้าทางดาราศาสตร์ที่ปรากฏให้เราเห็นมีหลายชนิด การถ่ายภาพแต่ละชนิดก็มีวิธีการ รูปแบบ ความสนุกสนาน และความท้าทายที่แตกต่างกันไป  การถ่ายภาพวัตถุทางดาราศาสตร์ช่วยทำให้เราเพลิดเพลิน ตื่นเต้น และรู้สึกภาคภูมิใจที่เราสามารถถ่ายภาพพวกเขาได้ แถมยังได้เห็นความงดงาม ความลึกลับ และความมหัศจรรย์ของจักรวาลอีกด้วย  วัตถุบนท้องฟ้าที่นิยมถ่ายภาพกัน อาจจัดกลุ่มได้ ดังนี้
  • การถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก (Deep Sky Objects) เป็นการถ่ายภาพวัตถุที่อยู่นอกระบบสุริยะของเรา เช่น กาแล็กซี เนบิวลา และกระจุกดาว วัตถุเหล่านี้ อาจอยู่ห่างจากเราหลายร้อยล้านปีแสง จึงเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายภาพพวกเขา การถ่ายภาพชนิดนี้ต้องมีอุปกรณ์พิเศษหลายอย่าง
  • การถ่ายภาพดาวเคราะห์ (Planetary) เป็นการถ่ายภาพดาวเคราะห์ต่าง ๆ เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวศุกร์ ที่อยู่ในระบบสุริยะของเรา
  • การถ่ายภาพดาวและกลุ่มดาว (Stars and constellations)  เป็นการถ่ายภาพดาวฤกษ์ และกลุ่มดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้า นอกระบบสุริยะของเรา
  • การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ (Solar) เป็นการถ่ายภาพดวงอาทิตย์และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์ เช่น จุดดับบนดวงอาทิตย์ ความโดดเด่น และเปลวสุริยะ เป็นต้น
  • การถ่ายภาพดวงจันทร์ (Lunar) เป็นการถ่ายภาพดวงจันทร์ ข้างขึ้น ข้างแรม รวมถึงลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ เช่น ปล่องภูเขาไฟ ภูเขา และหุบเขา 
  • การถ่ายภาพทางช้างเผือก (Milky Way) 
  • การถ่ายภาพดาวหางและฝนดาวตก (Comet and meteor shower) 
  • ฯลฯ
การถ่ายแบบ Prime Focus 
ที่มาของภาพ (Hermanus Astronomy.2566)

เทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ 
เทนิคการถ่ายภาพวัตถุต่าง ๆ ทางดาราศาสตร์ จะมีวิธีการ เทคนิค  เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดวัตถุบนท้องฟ้านั้น ๆ และลักษณะของภาพที่ต้องการ เทคนิคการถ่ายที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีหลายเทคนิค อาทิ
  • การถ่ายทิวทัศน์กลางคืนมุมกว้าง (Wide-Angle Night-Scapes) คือ การใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของทรงกลมท้องฟ้า
  • การถ่ายแบบ Prime Focus  คือ การติดกล้องเข้ากับกล้องโทรทรรศน์โดยตรง 
  • การถ่ายแบบ Star-Tracker Night-Scapes คือ การถ่ายทิวทัศน์กลางคืนโดยใช้อุปกรณ์ตามดาว
  • การถ่ายแบบ Piggyback  คือ การติดตั้งกล้องถ่ายบนหลังกล้องโทรทรรศน์
  • การถ่ายแบบเจาะลึกทางช้างเผือก (Star-Tracker Milky Way Close-Ups)
  • การถ่ายแบบ Afocal คือ ใช้กล้องถ่าย ถ่ายไปที่เลนส์ใกล้ตาของกล้องโทรทรรศน์
  • การถ่ายทิวทัศน์กลางคืนแบบพานอรามา (Night-Scape Panoramas)
  • การถ่าย Landscape คือ การถ่ายภาพผสมระหว่าง Foregroud และ Sky ให้กลมกลืนและสวยงาม 
  • การถ่ายแบบ Timelapse คือการถ่ายภาพหลายภาพในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วนำมารวมกันเพื่อสร้างเป็นวิดีโอหรือภาพนิ่ง 
  • ฯลฯ
การถ่ายแบบ Afocal
ที่มาของภาพ (Wikipedia. 2566)

การถ่ายภาพแบบ Piggyback 

การถ่ายภาพดาวแบบมินิมอล
เทคนิคการถ่ายภาพดาราศาสตร์แต่ละรูปแบบ จะมีการใช้กล้อง อุปกรณ์ และเครื่องมือ ที่แตกต่างกัน ต้นทุนค่าใช้จ่ายในบางเทคนิคจะมีราคาสูงมาก โดยเฉพาะตัวกล้องและอุปกรณ์ต่อพ่วง หากนักถ่ายภาพมีทักษะประสบการณ์และรู้จักการประยุกต์ใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะช่วยลดต้นทุนในการถ่ายภาพให้ต่ำลง หรือ น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การถ่ายภาพวัตถุบนท้องฟ้าที่ง่ายและประหยัดที่สุด คือ การถ่ายภาพทิวทัศน์ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว และดาวเคราะห์ ซึ่งผมขอเรียกว่า "การถ่ายภาพดาวแบบมินิมอล" เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น (Beginner) หรือมือใหม่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า "ดูดาวได้ ถ่ายภาพเป็น" โดยมีหลักในการถ่ายภาพดาวแบบมินิมอล 6 ประการ ได้แก่
  1. ใข้โทรศัพท์มือถือของคุณเอง เพราะทุกคนมีอยู่แล้ว ใช้กล้องโทรศัพท์มือถือของตนเองในการถ่ายดาว พยายามหัดใช้ทุกฟังก์ชั่นให้เป็นและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะโหมดการตั้งค่าถ่ายภาพเอง (Pro/Manual)
  2. ใช้ขาตั้งกล้อง  ขาตั้งกล้องมีความจำเป็นเพื่อป้องกันการสั่นไหวของกล้อง ซื้อขาตั้งกล้องเป็นของตัวเองสักอัน (เดี๋ยวนี้มีขายทั่วไปตามร้านโทรศัพท์ ทางออนไลน์ก็มี ราคาไม่แพง) ไปไหนให้นำติดตัว ติดรถไปด้วย พร้อมใช้งานได้เสมอ
  3. ใช้แอปพลิเคชันดูดาว ยอมเสียเงินติดตั้งแอปพลิเคชันดูดาวที่ดีดีสักแอปฯ ลงในโทรศัพท์มือถือ เช่น Star Walk 2, Sky Tonight, Sky Safari 7 ฯลฯ แล้วใช้ให้เป็น เมื่อมีเวลาว่างลองเปิดดู "ท้องฟ้าจำลอง" ในแอปฯ  หัดดูชื่อดาว หัดดูกลุ่มดาว หัดดูว่าในแต่ละคืนจะมีดาวหรือวัตถุใดที่จะขึ้นให้เราเห็นบ้าง  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คุณ ออกมาดูดาวในท้องฟ้าจริง ๆ ในยามค่ำคืน
  4. ใช้แอปพลิเคชันแต่งภาพ ยอมเสียเงินติดตั้งแอปพลิเคชันแต่งภาพดีดีสักแอปฯ  ลงในโทรศัพท์มือถือ เช่น Photoshop Express Photo Editor (Ps), Lightroom Photo & Video Editor (Lr) ฯลฯ เอาไว้แต่งภาพดาวที่เราถ่ายมา หรือใข้แต่งภาพถ่ายอื่น ๆ ของเราก็ได้ ฝึกใช้ให้คล่อง ลองผิดลองดู เดี๋ยวก็จะเข้าใจเอง 
  5. หมั่นหาความรู้ หมั่นศึกษาหาความรู้ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทางเว็บไซต์หรือโซเซียลมีเดียทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ดาษดื่นในโลกออนไลน์ หัดดูภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่คนอื่น ๆ ถ่ายแล้วโพสต์ไว้ว่าเขามีเทคนิคการตั้งค่าการถ่ายภาพอย่างไร เขาวาง Landscape อย่างไร แล้วจำมาประยุกต์ในการถ่ายของเราเอง 
  6. หมั่นฝึกทักษะและประสบการณ์ ทุกครั้งเมื่อมีเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว จงเดินออกไปนอกบ้าน และมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เมื่อเห็นดาวก็เริ่มตั้งกล้องถ่ายภาพได้เลย ฝึกถ่ายบ่อย ๆ สวยบ้างไม่สวยบ้าง ไม่เป็นไร เพราะมันจะทำให้เราได้ทักษะ พอเรามีทักษะมากขึ้นก็จะกลายเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมอยู่ในตัวของเราเอง  
ท้องฟ้าเมืองราชบุรี Class6 ยังพอมองเห็นดาวต่าง ๆ ได้
นักถ่ายดาวแบบมินิมอล
การถ่ายดาวด้วยมือถือ ไม่ยุ่งยาก ใคร ๆ ก็ถ่ายได้ แถมถ่ายได้ทุกคืน แม้แต่ในเมืองที่มีแสงสว่างเรืองขึ้นท้องฟ้ามาก ๆ ก็ยังพอมองเห็นดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ที่สว่าง ๆ ปรากฏให้เห็นอยู่ อย่างเช่นท้องฟ้าเมืองราชบุรี บ้านผมเอง (ค่าความมืดของท้องฟ้า Class 6) ก็ยังพอมองเห็นกลุ่มดาวได้ (ภาพด้านบน) ยกเว้น เมื่อเวลามีเมฆและมีฝนตกเท่านั้น ที่จะเป็นอุปสรรคในการถ่ายดาว 

ค่าความสว่างของท้องฟ้า

หมั่นออกมาที่ระเบียงหรือสนามหน้าบ้าน ตั้งกล้องและลงมือถ่าย นำภาพที่ถ่ายได้มาศึกษาเรียนรู้ และลองแต่งภาพดู แค่นี้ ก็ถือว่า เป็น "นักถ่ายดาวแบบมินิมอล" แล้ว ไม่ใช่ "นักถ่ายภาพดาวมือใหม่" อีกต่อไป พอถึงวันหยุดพักผ่อน ค่อยไปหาสถานที่ที่ท้องฟ้ามืด ๆ ตั้งกล้องถ่ายดาวกันต่อไป

การถ่ายภาพดาวแบบมินิมอล

นักถ่ายดาวแบบมินิมอล แทบไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ราคาแพงอะไรเลย เพราะทุกอย่างมีใช้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องใช้ให้เป็น ตั้งแต่การตั้งค่าการถ่าย การแต่งภาพ จนถึงการโพสต์ภาพดาวสวย ๆ ลงในโซเซียล คุณสามารถทำได้ในโทรศัพท์มือถือของคุณเพียงเครื่องเดียว กับขาตั้งกล้องอีกหนึ่งอัน

*********************************
เขียนโดย
พลตรี ดร.สุชาต จันทรวงศ์
ชมรมดาราศาสตร์และมวลเมฆ จ.ราชบุรี
22 พ.ย.2566


ที่มาข้อมูล
  • Karl Perera MA. (2566). Types of astrophotography that will amaze youAstroimagery.com. [Online]. Available : https://astroimagery.com/astrophotography/types-of-astrophotography/. [2566 พฤศจิกายน 21].
  • Justin Parker. (2566). 11 Types of Astrophotography You Should KnowS้hutterhow[Online]. Available : https://www.shutterhow.com/types-of-astrophotography/. [2566 พฤศจิกายน 21].
  • Wikipedia. (2566). Afocal photography[Online]. Available : https://en.wikipedia.org/wiki/Afocal_photography. [2566 พฤศจิกายน 21].
  • Hermanus Astronomy. (2566). Astrophotography – THE DSLR AND THE TELESCOPE[Online]. Available : https://www.hermanusastronomy.co.za/astrophotography-the-dslr-and-the-telescope/. [2566 พฤศจิกายน 21].

ความคิดเห็น

บทความที่มีผู้อ่านมากที่สุดในบล็อก